หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่ใครๆมักจะถามฉันประจำคือ “ไปมาร่วมหกสิบประเทศแล้ว มีที่ไหนอีกไหมที่ฝันว่าจะต้องไปให้ถึงอีก” มีสิคะ หลายที่ด้วย หนึ่งในท็อปลิสต์ฝันอันสูงสุดที่ฉันตอบโดยไม่คิดคือ “ไปเดินบุกป่าดูกอริลล่าแบบในหนังกอริลล่าอินเดอะมิสต์ที่รอยต่อสามประเทศคือรวันดา อูกันดา และคองโก” ตอบทีไรก็จะได้ปฏิกิริยาเหมือนกันทุกครั้งว่า “โอ้โห สุดยอดๆๆ” หรือ “ทำไมถึงสรรหาอะไรได้แปลกไม่เหมือนใครอย่างนี้” หรือไม่ก็ “เกิดมาไม่เคยคิดจะไปอะไรแบบนี้เลย แจ๋วจริงๆ” ฉันมักจะตอบว่า ก็เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่จะไปกันได้ง่ายๆหรือใครๆก็ไปได้ไง ถึงอยากไป ตัวฉันเองก็ฝันมาตั้งหลายปีกว่าจะได้ไป
สาเหตุที่ไปไม่ได้ดังใจฝันนั้นไม่ใช่เพราะไกล แอฟริกากลางแค่นี้เรื่องเล็ก แต่เป็นเพราะความไม่แน่ใจในความปลอดภัยและสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศทั้งสาม ที่สำคัญ ทางการของเขาจำกัดจำนวนคนที่อนุญาตให้เข้าไปเดินตามรอยกอริลล่าได้ไม่กี่คน ในแต่ละวัน ทำให้ต้องซื้อตั๋วจองกันเป็นปี การที่ต้องเสียเงินล่วงหน้านานขนาดนั้นทิ้งไว้ในประเทศที่เราไม่มั่นใจในความมั่นคงทำให้คิดหนัก เลื่อนไปเรื่อยๆไม่ได้ไปสักที จนสุดท้ายฉันวางแผนไว้คร่าวๆว่าจะไปในปี 2555 และสุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนแผนอีกเหมือนเดิมอย่างเสียใจ แต่บางทีชีวิตมันก็ไม่เป็นไปตามที่เราวางแผนเอาไว้เสมอไป ฉันได้เรียนรู้อย่างทึ่งและน้อมรับในชะตาของทางเดินชีวิตก็คราวนี้แหละ ว่าเส้นทางบางเส้นมันได้ถูกขีดเอาไว้แล้ว และที่เรานึกว่าเราเดินมาตามทางที่เราวางไว้นั้น จริงๆใครข้างบนเขาหลอกให้เราเชื่อเท่านั้นเองว่าเราเลือกได้ พอถึงเวลาเขาก็เฉลยให้รู้ว่าเส้นทางและจุดหมายที่เราต้องไปให้ถึงนั้น มันถูกกำหนดมาแล้ว
ฉันจึงได้มารู้จักเพื่อนใหม่คนหนึ่งโดยไม่คาดหมาย เกิดมาไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะได้รู้จักใครที่อาศัยอยู่ในประเทศรวันดา สเตฟานเป็นชาวเบลเยี่ยมแต่แต่งงานกับอลิสซึ่งเป็นชาวรวันดา เป็นอาจารย์สอนจิตวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัยใน Kigali เมืองหลวงของรวันดา ซึ่งจริงๆเขาย้ายกลับไปอยู่รวันดากันแค่ไม่ถึงปีก่อนที่จะมารู้จักกับฉัน ถ้าเจอกันเร็วกว่านี้ก็คงจะยังไม่ได้ไปอยู่ดี ถึงบอกว่าแปลกจริงเขากำหนดมาแล้ว ฉันบอกว่าอยากไปเดินป่าดูกอริลล่า เขาบอกมาเลยจะจัดให้ จะซื้อตั๋วล่วงหน้าไว้ให้จากออฟฟิศในเมือง ไม่ต้องกังวลว่าซื้อเองจากอินเตอร์เน็ตแล้วจะไว้ใจได้ไหม แล้วมานอนบ้านเขา จะพาเที่ยวรวันดาด้วย อย่างนี้มีหรือที่ฉันจะปฏิเสธ คนท้องถิ่นเสนอตัวขนาดนี้ในบ้านเมืองที่หาข้อมูลยากเย็น ฉันจึงวางแผนเดินทางทั้งหมดเป็นทริปใหญ่รวันดาแทนซาเนีย ใช้เวลาศึกษาวางแผนจองทุกอย่างในมาตรฐานเวลาตามปกติ ไม่ต้องจองกอริลล่าข้ามปีเพราะเพื่อนจัดให้ แถมยังโชคดีสุดๆ เพราะปกติค่าเดินเข้าอุทยานไปชมกอริลล่านี้ราคา 500 เหรียญสหรัฐต่อคน รวันดาประกาศจะขึ้นราคาวันที่ 1 มิถุนายน 2555 เป็น 750 เหรียญ ขึ้นที 50% อะไรจะโหดอย่างนี้ ฉันจะไปปลายพฤษภาต่อมิถุนาพอดี เลยบอกเพื่อนว่าจองกอริลล่าเอาวันที่ 27 พฤษภา ห้ามเกินไปมิถุนา เลยโชคดีได้เป็นคนท้ายๆที่ได้ราคาเก่า ใครไปตอนนี้ต้องกัดฟันแรงๆ
รวันดาเป็นประเทศเล็กๆในแอฟริกากลาง อยู่ติดกับเคนยาซึ่งเราจะคุ้นเคยมากกว่า ฉันเองก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับประเทศนี้มากนัก นอกเหนือไปจากเรื่องราวจากภาพยนตร์ Hotel Rwanda ระดับรางวัลที่ดูมาเป็นสิบปีแล้วแต่ยังลืมไม่ลง ด้วยเรื่องราวสะเทือนใจจากสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเอง ตัวเอกคือผู้จัดการโรงแรมที่แอบเปิดห้องพักให้แก่ชาวบ้านที่หนีหลบซ่อนจากการถูกฆ่าทิ้งไม่ว่าลูกเด็กเล็กแดง อาหารก็ไม่มีพอจะเลี้ยงทุกคน ตัวเขาเองเกือบถูกจับได้หลังจากแอบซ่อนคนไว้เป็นเดือน ฉากไร้มนุษยธรรมต่างๆติดตาติดใจมาก ภาพของประเทศทั้งหลายในแอฟริกลางดูจะแยกกันไม่ออกกับเผด็จการ สังหารหมู่ และประชาชนจนๆตาดำๆที่ไม่มีทางเลือก ฉันจึงเห็นภาพรวันดาเป็นเช่นนั้นในหัวมาตลอด
เนื่องจากรวันดาเป็นประเทศเล็ก จึงมีสายการบินตรงไม่มาก ถ้ามาจากเมืองไทยง่ายที่สุดคือบินตรงเข้ากรุงไนโรบีประเทศเคนยาใช้เวลาเก้าชั่วโมงนอนยาวทั้งคืนบนเครื่อง ตื่นมาถึงไนโรบีเช้าตรู่ รอต่อเครื่องด้วยเคนยาแอร์เวย์ไม่นานบินต่ออีกราวสองชั่วโมงสู่กรุงคิกาลีถึงราวเก้าโมงเช้า มีเวลาเที่ยวเต็มวันตั้งแต่วันแรก จากสนามบินนั่งรถไปบ้านสเตฟานซึ่งอยู่ย่านไฮโซใจกลางเมืองใช้เวลาสิบห้านาที ไม่มีคำว่ารถติดเพราะรถมีน้อยมากเทียบกับประชากร ต้องบอกว่าภาพรวันดาในเมืองหลวงที่เห็นนั้น จะว่าเหมือนกับที่วาดไว้ในใจก็เหมือน แต่จะว่าต่างก็ต่าง คือสภาพภูมิประเทศถนนหนทางเป็นคอนกรีตไม่ใหญ่โตแต่ไม่กันดาร บ้านเมืองกำลังพัฒนา ส่วนมากเป็นตึกแถวก่อปูนไม่มีศิลปะทางสถาปัตยกรรมใดๆทั้งสิ้น ผู้คนผิวดำแต่งตัวง่ายๆปอนๆ มีทั้งที่ใส่ยีนส์เสื้อยืดและชุดกรอมเท้าพื้นเมือง ต่างเดินกันริมสองฝั่งถนนไปไหนมาไหนกันด้วยเท้ากันเป็นหลัก แต่ที่ต่างไปจากความคิดคือบ้านเมืองเขาเขียวร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ไม่ได้แห้งแล้ง และถนนก็ไม่ได้เต็มไปด้วยฝุ่นแดงๆ ที่สำคัญฉันไม่ได้รู้สึกว่าในบรรยากาศนั้นมีความเศร้ารันทดหรือความลำบากในความยากจนของผู้คน จริงๆฉันกลับรู้สึกสดชื่นเหมือนได้กลิ่นใบไม้ใบใหม่ที่กำลังผลิใบเปิดออกด้วยซ้ำ เหมือนใบไม้ใบนั้นรู้ว่าเวลาของความอบอุ่นแห่งแสงแดดและชีวิตใหม่กำลังมาถึง
ที่น่าประทับใจมากคือเห็นว่าชาวบ้านปอนๆเหล่านั้นต่างถืออุปกรณ์ต่างๆในมือเดินตามๆกันไป สเตฟานบอกว่าวันเสาร์นี้เป็นธรรมเนียมที่ชาวบ้านจะออกมาทำงานเพื่อส่วนรวมกันอย่างเต็มอกเต็มใจมาหลายปีแล้ว ไม่ว่างานเก็บกวาดต้นไม้ทำความสะอาดถนน งานก่อสร้างต่างๆเพื่อสาธารณประโยชน์ น่าชื่นใจและแปลกใจไปพร้อมๆกันที่เรามักจะนึกว่าประชาชนในประเทศยากลำบากนั้นจะนึกถึงกิจกรรมเพื่อส่วนรวมหลังส่วนตัว และงานสาธารกุศลนี้มักจะต้องปฏิบัติโดยคนมีเงินเท่านั้น นี่ไม่ใช่เลย ชาวรวันดารู้ว่าประเทศเขาเพิ่งก้าวผ่านช่วงเวลาเศร้าและลำบาก และพวกเขาต้องลงไม้ลงมือร่วมกันเพื่อให้ส่วนรวมดำเนินไปได้ไกลและเร็วขึ้น
ย่านบ้านของสเตฟานยิ่งร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่อายุหลายสิบปี เพราะเป็นย่านเศรษฐีจริงๆ อยู่ถัดไปไม่กี่ถนนจากบ้านประธานาธิบดี บ้านแถวนั้นถึงแม้จะบริเวณกว้างแต่ก็ไม่หรูหราทันสมัยอะไรเลย ความขาดแคลนทรัพยากรต่างๆยังมีอยู่มากจริงๆ คอรัปชั่นและการทำงานที่เชื่องช้าของรัฐบาลยังมีอยู่มาก สเตฟานย้ายมาอยู่คิกาลีได้แปดเดือนแล้ว แต่รถที่ส่งมาจากสวิสสองคันยังเคลียร์ออกมาจากศุลกากรไม่ได้เป็นครึ่งปีแล้ว เพราะมีการเรียกเอกสารเพิ่มตลอดเวลา ชัดเจนว่าถ้าจะเอาออกมาก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะเท่านั้น
วันที่ฉันไปถึงนั้นเป็นวันเสาร์ จึงเหมาะที่จะขับรถออกไป”ตากอากาศต่างจังหวัด” สเตฟานขับรถพาเราและครอบครัวไปทะเลสาบ Kivu พักที่เมือง Kibuye ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวเมืองรวันดา ฉันไม่เคยคิดมาก่อนว่ารวันดาจะมีทะเลสาบใหญ่และมีเมืองตากอากาศโดยรอบเช่นนี้ นึกว่ามีแต่ภูมิประเทศแห้งๆแล้งๆแบนๆเต็มไปด้วยดินระแหง ที่แปลกใจกว่าคือตลอดเส้นทางนั้นได้เห็นภูมิประเทศรวันดาว่าเป็นเนินเขาเขียวทึบชอุ่มชุ่มชื้นสลับเรียงกันสูงๆต่ำๆทั่วตลอด สมฉายา Land of a thousand hills มีการทำสวนขั้นบันไดเพราะดินดีเหมาะกับการเพาะปลูก ดูเผินๆเหมือนเนปาล
สองข้างทางที่นั่งรถไปหลายชั่วโมงนั้น มีชาวบ้านเดินเท้ากันตลอดทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง พอหลายระยะหมู่บ้านมาต่อๆกันจึงเหมือนมีคนเดินตลอดข้างทางไม่ขาดสาย ชาวบ้านแต่งตัวลวดลายกราฟฟิกพื้นเมืองสีสดใส ผ้านุ่งกับผ้าโพกผมเป็นลายเดียวกันแบบที่เราเห็นในสารคดีเกี่ยวกับแอฟริกา เป็นภาพชีวิตที่สวยงามมาก รถที่ผ่านไปหรือสวนมามีน้อย เรียกได้ว่าการเดินเท้าคือวิถีหลัก เวลาเราจอดเพื่อกลับรถหรือดูแผนที่ ชาวบ้านที่เดินอยู่ก็จะเข้ามามุงดูเหมือนเราและรถเป็นตัวประหลาดที่หาดูยาก
กว่าจะถึงโรงแรมจึงเย็นแล้วเพราะถนนขับได้ช้า โรงแรมเป็นตึกบังกะโลแบบธรรมดาๆเรียงไปในสวนติดทะเลสาบ อากาศดีวิวสบายๆ ดูดิบๆเรียบๆและเงียบมากๆ หนุ่มๆรีบกระโดดลงว่ายน้ำในทะเลสาบแข่งกันก่อนแสงอาทิตย์สุดท้ายจะหมด ส่วนฉันขอผ่านเพราะน้ำเย็นจะตาย รวันดาอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร เดือนพฤษภาจึงยังเป็นหน้าหนาวอยู่ ถึงจะไม่หนาวจัดแต่น้ำก็เย็นเกินว่ายละกัน อาหารเย็นกินในโรงแรม นั่งในลานระเบียงโล่งลมโกรกริมทะเลสาบ อาหารพื้นเมืองเมนูเน้นเนื้อวัวเนื้อแพะ เป็นพวกตุ๋นๆใส่ผักรวมๆมา รสชาติไม่อร่อยมากประเภทที่กินแล้วรู้ว่ารสด้อยเพราะขาดแคลนเครื่องเคราในการปรุง ไม่ใช่เป็นเพราะแม่ครัวไม่เก่ง อันนี้เหมือนคิวบาเลย น่าเศร้า รุ่งเช้าเราใช้ชีวิตพักผ่อนแบบตากอากาศจริงๆ คือนอนอ่านหนังสืออาบแดดบนสนามหญ้าริมทะเลสาบที่โรงแรมสลับกับว่ายน้ำ จากความประหลาดใจเกี่ยวกับภูมิประเทศของรวันดาทำให้ฉันอ่านข้อมูลต่างๆเป็นการใหญ่ ได้ความรู้ใหม่มากมายเช่น ทะเลสาบคิวูนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ทะเลสาบที่อยู่ในความเสี่ยงจากการเกิดระเบิดกาซ เรียกว่าเป็น Exploding lake หรือภัยธรรมชาติอย่างหนึ่ง สาเหตุคือภูเขาไฟอยู่ที่ข้างใต้เกิดปฏิกิริยากับน้ำและปล่อยกาซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเธนออกมาอยู่ในน้ำเป็นปริมาณมหาศาล ไม่รู้ว่าวันไหนกาซนี้มันจะระเบิดพุ่งขึ้นมาจากทะเลสาบ ซึ่งจะทำให้สิ่งมีชีวิตทุกอย่างรอบตายหมดอย่างทันทีเพราะหายใจไม่ออก และยังอาจก่อให้เกิดสุนามิได้ด้วยในขณะเดียวกัน ในบางบริเวณของทะเลสาบที่มีความเข้มข้นของกาซทั้งสองนี้มากๆยังอันตรายไม่ควรไปว่ายน้ำเล่นด้วย เพราะกาซมันจะดูดให้ดิ่งลงไปในน้ำเหมือนตายแล้วตกลงไปในอเวจี
ส่วนในด้านการเมืองนั้นฉันรู้มาก่อนน้อยมาก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารวันดาเคยเป็นเมืองขึ้นของเบลเยี่ยมและเยอรมัน (ก็เราไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์แอฟริกานี่นา อย่าว่าแต่ยุโรปเลย) รู้ว่าความเจ็บปวดที่ทิ้งแผลลึกของรวันดาคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือ Genocide จากที่เห็นในหนัง Hotel Rwanda แต่ไม่รู้หรอกว่าที่มาที่ไปคืออะไร หากในเมื่อมาถึงรวันดาแล้วจะไม่รู้เรื่องเหตุการณ์อันสำคัญที่สุดของประเทศได้อย่างไร ก่อนที่จะไปเยือนพิพิธภัณฑ์ Genocide ในกรุงคิกาลีในวันต่อมา ฉันจึงตะลุยอ่านศึกษาพร้อมทั้งพูดคุยกับเพื่อนๆหามุมมองว่าปัจจุบันชาวรวันดันคิดและรู้สึกอย่างไร
เรื่องราวย่อๆที่แสนเศร้ามีอยู่ว่า ในสมัยที่รวันดายังไม่เป็นเมืองขึ้นของใครนั้น ชนเผ่าพื้นเมืองสองเผ่าคือ Tutsi และ Hutu ก็อยู่ร่วมกันดี แม้เผ่าทุตซี่จะรวยกว่า (คือมีวัวควายมากกว่า) แต่การแต่งงานข้ามเผ่าและเปลี่ยนเผ่าก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ใครจะอยู่เผ่าไหนไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วต้องเป็นเผ่านั้นไปตลอด คล้ายจะเป็นสัญชาติมากกว่าเชื้อชาติ จนเยอรมันเข้ามาปกครองเป็นอาณานิคมก็มาจัดระเบียบ เห็นว่าเผ่าทุตซี่นั้นมีรูปร่างสูงและผิวสีอ่อนกว่าฮูตู พูดง่ายๆดูใกล้เคียงฝรั่งผิวขาวแบบตัวเองกว่า ก็เลยกำหนดว่าให้เผ่าทุตซี่ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่านั้นเป็นชนชั้นปกครอง และฮูตูผู้ดำเตี้ยเป็นชั้นแรงงาน ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันชนะสงคราม ก็มีการประชุมตกลงกันระหว่างบรรดาพันธมิตร มีการแบ่งประเทศในอาณานิคมเป็นรางวัล รวันดาก็ถูกยกมาให้เป็นนิคมของเบลเยี่ยม ซึ่งก็เข้ามาจัดระเบียบสำมะโนประชากรโดยให้ทุกคนมีบัตรประจำตัวและระบุในบัตรเลยว่าเป็นทุตซี่หรือฮูตู (และมีเผ่า Twa อีกแต่เป็นส่วนน้อยมาก) และกำหนดชัดเจนว่า ห้ามเผ่าฮูตูมีตำแหน่งอำนาจปกครองใดๆ ทุตซี่กลายเป็นเผ่าอภิสิทธิ์แม้จะมีจำนวนแค่ 10% ของประชากร เบลเยี่ยมปกครองโดยผ่านผู้นำทุตซี่จนต่อมามีการเคลื่อนไหวในรวันดาที่จะปฏิวัติเพื่อประกาศเป็นเอกราช เบลเยี่ยมเห็นท่าไม่ดีก็เลยกลับโผ ประกาศให้ฮูตูซึ่งเป็นชนส่วนมากเป็นเผ่าปกครองแทน ทีนี้เผ่าทุตซี่ก็เลยไม่พอใจอย่างแรง ทำให้สองเผ่าเกลียดขี้หน้ากันอย่างรุนแรงมากขึ้นๆ หลังจากที่รวันดาได้สถาปนาเป็นประเทศอิสระสาธารณรัฐรวันดา ฮูตูก็ยังเป็นฝ่ายปกครองอยู่ สื่อต่างๆประโคมปลูกฝังความเกลียดชังระหว่างสองกลุ่มอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เรียกว่าเด็กรุ่นใหม่ๆเกิดมาก็ถูกฝังหัวให้เกลียดเผ่าตรงข้ามแล้ว เป็นการล้างสมองอย่างยาวนานที่ฝังลึก (สงครามระหว่างสองขั้วที่เกิดจากการล้างสมองและปลูกฝังความเกลียดชังอย่างลึกและยาวนานนี่น่ากลัวจริงๆ!) จนปี 1994 ประธานาธิบดีรวันดาซึ่งเป็นเผ่าฮูตูบินกลับมาจากประชุมที่แทนซาเนีย เครื่องบินถูกดักยิงตกคนในเครื่องตายหมด จริงๆพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ยิง เพราะประธานาธิบดีก็เพิ่งทำเรื่องให้ฮูตูด้วยกันไม่พอใจโดยผ่อนคลายกับทุตซี่มากขึ้น แต่พวกหัวรุนแรงฮูตูกล่าวหาว่าเผ่าทุตซี่เป็นผู้กระทำ แล้วใช้เป็นข้ออ้างในการบุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลและฆ่าสังหารโหดล้างเผ่าพันธุ์ทุตซี่ทุกคน โดยเริ่มจากการปิดกั้นถนนทุกสายในกรุงคิกาลี ตรวจเช็คบัตรประจำตัวทุกคนที่ผ่าน ถ้าเป็นฮูตูก็ฆ่าเลยอย่างไม่ปรานีในที่โล่งแจ้งอย่างไม่ให้เสียเวลา การสังหารส่วนมากใช้มีด เพราะลูกปืนแพง ถ้าเหยื่อยอมจ่ายเงินซื้อลูกกระสุนเพื่อพ้นทรมานก่อนตายก็อาจยอมให้ตายโดยการยิงได้ ไม่กี่วันถนนทั่วทั้งประเทศก็ถูกปิด การสังหารเกิดขึ้นทั่วทุกหย่อมหญ้าอย่างยากจะหนีหลุดรอดพ้นสายตาฮูตูไปได้อย่างโหดเหี้ยม ศพก็ทิ้งกองไว้ตรงนั้น เน่าเหม็นและปล่อยให้สุนัขหนูแทะกินอย่างอนาถทั่วไป ผู้หญิงถูกข่มขืนและทรมานก่อนฆ่า โดยเอามีดทะลวงเข้าไปในอวัยวะเพศหรือเฉือนตัดหน้าอกทิ้งสดๆ ฆ่าไม่เว้นแม้เด็กเล็ก เรียกว่าหากเป็นทุตซี่แล้วตายอย่างเดียว ที่โหดที่สุดก็คือผู้ว่าเมืองหนึ่งซึ่งเป็นเผ่าฮูตูมาหลอกให้ทุตซี่เข้าไปหลบภัยในโบสถ์แคทอลิกประจำเมือง ทุตซี่ก็เชื่อเพราะปกติในยามศึกสงครามก็รู้กันอยู่ว่ายังไงก็จะยกเว้นการล่าและกระทำการอันโหดร้ายในโบสถ์ โรงเรียนและโรงพยาบาล ปรากฏทุตซี่เป็นพันคนที่เข้าไปหลบในโบสถ์นั้นถูกปิดประตูขังสังหารหมู่ตายเรียบโดยระเบิดและเชือดทีละคน ใช้เวลาฆ่าจนหมดถึงสองวัน เหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศรวันดาอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้ นายกรัฐมนตรีก็ถูกบุกเข้าไปฆ่า แม้แต่ทูตสันติภาพของยูเอ็นซึ่งเป็นชาวเบลเยี่ยมที่พยายามจะปกป้องนายกก็ยังถูกฆ่าหลายคน จนเบลเยี่ยมต้องถอนกำลังออก รวันดากลายเป็นดินแดนนองเลือดและเต็มไปด้วยซากศพถึงร้อยกว่าวัน จนกระทั่งกองกำลังทหารเผ่าทุตซี่ซึ่งถูกฝึกและออกไปซุ่มอยู่นอกประเทศเช่นคองโกได้ยกพลเข้ามาค่อยๆยึดรวันดาคืน การฆ่าโหดล้างเผ่าพันธุ์อันโหดร้ายที่สุดอันหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกจึงยุติ
ทั้งหมดนี้ฉันทั้งอ่านทั้งคุยและได้ไปชมเรื่องราวที่พิพิธภัณฑ์ Genocide ในกรุงคิกาลี คือ Kigali Memorial Centre ซึ่งแม้จะเศร้าแต่ก็เป็นสถานที่ที่ต้องไปเยือนหากมาถึงรวันดา บริเวณรอบพิพิธภัณฑ์ทำสวนอย่างสวยงาม เอาเทปบรรยายมาเสียบหูฟังเดินไปตามบริเวณสวนรอบๆรื่นรมย์คั่นบรรยากาศ ในบริเวณมีสุสานที่ระลึกอาลัยแก่เหยื่อของการสังหารหมู่อันโหดร้ายนี้ถึงสองแสนห้าหมื่นศพ เวลาเดินรอบๆบริเวณจึงต้องสำรวมเป็นพิเศษ
นอกจากไปเที่ยวทะเลสาบตากอากาศ ชมพิพิธภัณฑ์แล้ว ฉันก็ยังได้สำรวจเมืองคิกาลีด้วย อุ่นเครื่องให้ครบก่อนจะได้เวลาไปตามรอยกอริลล่า ซึ่งก็ไม่มีอะไรให้เที่ยวชมมากนัก วันสองวันก็พอ เป็นชีวิตเมืองหลวงของประเทศไกลปืนเที่ยงไปที่ไม่ค่อยได้เห็น มีตึกสูงทันสมัยไม่กี่ตึก มีซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ทันสมัยหนึ่งร้านนี่เราเห็น เรานับเป็นนักท่องเที่ยวชั้นไฮโซมากๆเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไปของเขา ก็คิดดูว่าบ้านอยู่ใกล้บ้านประธานาธิบดี ไปดริ๊งค์ก่อนมื้อเย็นที่บ้านพ่อแม่อลิซซึ่งเป็นวิลล่าในสวนใหญ่เบิ้มฟังเขาคุยกันเป็นภาษาฝรั่งเศส (รวันดาเคยใช้ฝรั่งเศสเป็นภาษาหลักอันเป็นผลพวงมาจากการปกครองโดยเบลเยี่ยม) กลางวันเดินไปกินอาหารกลางวันแบบบุฟเฟ่ต์ที่ร้าน Chez Robert และสเตฟานเดินจากที่ทำงานมากินด้วย ตลอดทางที่เดินในละแวกบ้านนั้นผ่านวิลล่าหลังโตๆ ไม่มีรถราผ่านมากนัก เหมือนเดินในหมูบ้าน ต้นไม้ร่มรื่นสวยงาม ประหนึ่งเป็นเขตหวงห้าม
ในย่านใกล้บ้านนี้มีสถานที่อีกแห่งที่พลาดไม่ได้ นั่นคือโรงแรมหรูที่สุดในเมือง Mille Collines สีขาวสวย เราไปนั่งดื่มยามบ่ายแดดร่มลมตกที่บาร์ริมสระน้ำ บรรยากาศเหมือนคลับหรูที่สงวนไว้ให้เศรษฐีเข้ามาเท่านั้น สงบสบาย ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อ 18 ปีที่แล้วนี่คือโรงแรมที่ผู้จัดการซ่อนชาวเผ่าทุตซี่ไว้จากการถูกฆ่าสังหาร ใช่แล้วนี่คือโรงแรมตัวจริงของสถานเกิดเหตุอันเป็นแรงบันดาลใจภาพยนตร์ที่สร้างมาจากเรื่องจริง Hotel Rwanda ที่ฉันลืมไม่ได้นั่นเอง! การมานั่งที่นี่จึงไม่ใช่ความเพลิดเพลินจากเครื่องดื่มและบรรยากาศดีๆเท่านั้น แต่เป็นการซึมซับประวัติศาสตร์อันมีฉากที่ตรงข้ามกับภาพตรงหน้าอย่างไม่น่าเชื่อ ฉันอดไม่ได้ที่จะหลับตาจินตนาการถึงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่ออดีต นึกถึงภาพในภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยซากศพ กองเลือด น้ำตา เสียงร้องไห้อ้อนวอนขอชีวิต สภาพโรงแรมที่สกปรกทรุดโทรม เมื่อลืมตา ภาพตึกทรงเดิมตรงหน้ากลับสั่นไหวพร่าๆแล้วกลายเป็นตึกสีขาวสะอาดสวย ภาพจริงในวันนี้ที่ซ้อนทับความหดหู่อันสุดจะบรรยายเพียงแค่ 18 ปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์นองเลือดนี้ดูป่าเถื่อนเกินกว่าจะเชื่อว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้เอง
เหมือนกับว่าการไปชมพิพิธภัณฑ์ Genocide การไปโรงแรมมิลคอลลีน และการพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ฆ่าล้างเผ่ายังไม่พอ สเตฟานชวนเราไปดูหนังสารคดีที่จัดฉายโดยชมรมศิลปวัฒนธรรมอะไรสักอย่าง เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงอายุ 95 ลูกครึ่งที่เกิดจากพ่อเบลเยี่ยมและแม่ที่เป็นคนพื้นเมืองรวันดา เรื่องฝรั่งเมืองปกครองที่มาตกหลุมรักสาวชาวบ้านหรือหญิงรับใช้พื้นเมืองในอาณานิคมในแอฟริกานี้เป็นเรื่องธรรมดา ทั้งในคองโก บุรุนดี หรือรวันดา หญิงคนนี้ย้ายไปอยู่เบลเยี่ยมตั้งแต่เด็ก สารคดีเป็นเรื่องที่เธอให้ลูกหลานพากลับมาติดตามดูสถานที่เก่าๆและคนเก่าๆที่เธอเคยรู้จัก เรียกว่าตามหาอดีตที่ลบเลือน เรื่องราวเล่าถึงการสืบเสาะที่ไม่ง่าย เพราะตอนที่อยู่รวันดาเธอเด็กมาก แต่ในที่สุดก็แกะเจอไปเรื่อยๆ ทั้งบ้านหลังโตในที่ดินมหึมาที่เธอเกิด ลูกหลานของคนที่เคยเลี้ยงเธอ ต่างๆนานา เรื่องราวเน้นสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับสมัยรวันดาถูกปกครองโดยเบลเยี่ยม การเมือง อาณานิคม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเครียดให้ขบคิดถึงผลกระทบของการเมืองที่มีต่อมนุษย์ผู้เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เต็มไปด้วยความบอบช้ำ บาดแผล และความทรงจำที่มิอาจลืม ไม่น่าเชื่ออีกเช่นกันที่ผลกระทบของการเมืองที่เรียกว่า “อาณานิคม”นี้ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ศตวรรษของแอฟริกาดูจะช้ากว่าทวีปอื่นๆไปเสียในทุกเรื่อง
บ่ายวันหนึ่งเรามีเวลาเหลือจึงออกเดินจากบ้านไปเรื่อยๆไปสำรวจย่าน Nyamirambo อยู่เชิงเขา Mount Kigali เป็นย่านมุสลิมที่พอจะมีสีสันหน่อยของเมืองหลวง ไปถึงเข้าจริงมันคือบริเวณที่มีตึกเตี้ยๆเป็นร้านค้าขนาบสองฝั่งถนน ของที่ขายสุดจะโบราณและต่ำด้วยคุณภาพ แต่ที่น่าสนใจคือกำแพงปูนหน้าร้านทุกร้านนั้นวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้สดใสชัดเจนให้รู้ทันทีว่าร้านนั้นขายอะไร เช่นภาพล้อรถอะไหล่ ภาพเนื้อสัตว์ ภาพผู้หญิงตัดผม เป็นบิลบอร์ดโฆษณาไปในตัว และพอดูรวมๆกันเยอะๆแล้วเป็นศิลปะกำแพงโรงเรียนอนุบาลที่น่ารักมากจนต้องถ่ายรูปอย่างหยุดไม่ได้ ถึงแม้ฉันจะรู้มาก่อนว่าคนรวันดาถือเรื่องสิทธิส่วนบุคคลในเรื่องการถ่ายภาพและระวังมากแล้วก็ตาม ฉันยังโดนคนปิดหน้าใส่และตะโกนบอกห้ามถ่าย จึงเข้าไปชี้แจงว่าฉันถ่ายวิวบ้านเมืองไม่ได้ติดพวกเขา แต่ก็ไม่รู้ว่าเธอเข้าใจหรือเปล่า ฉันไม่อยากให้ชาวท้องถิ่นไม่ว่าที่ไหนก็ตามไม่ชอบนักท่องเที่ยว และก็อยากทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวที่เคารพเจ้าของถิ่น
และในที่สุดก็ถึงวันที่เราจะได้ไปเดินบุกป่าชมกอริลล่า สัตว์หายากที่เหลืออยู่เพียง 700 กว่าตัวทั่วโลก เราตื่นตีสี่ออกจากบ้านก่อนตีห้า โดยมีรถที่สเตฟานจ้างไว้ล่วงหน้าส่วนตัวเรามารับ เหมาไปเลยทั้งวันร้อยเหรียญ อันนี้สำคัญเพราะนั่งไปไกลและต้องเข้าไปจนถึงชายป่า ไม่มีรถสาธาราณะไปถึง รถพาเราไปถึงสถานีอุทยานป่าซึ่งเป็นจุดที่เราต้องไปยื่นตั๋วลงชื่อและรับบรีฟตอนใกล้เจ็ดโมงเช้า ต่อให้ซื้อตั๋วมาล่วงหน้าถ้าไม่มารายงานตัวก่อน 7 โมงเขาก็จะตัดสิทธิ์ให้คนอื่นที่มารอซื้อตั๋วหน้างานไปเลย เพราะวันหนึ่งๆมีโควต้าให้นักท่องเที่ยวเดินป่าเข้าไปแค่ 48 คนเท่านั้น น้อยมากขนาดนี้ถึงต้องจองกันเป็นเดือนเป็นปี นักท่องเที่ยวจะถูกแบ่งเป็น 6 กลุ่มๆละ 8 คน มีไกด์ที่เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานของรัฐหลายคนต่อกลุ่มนำบุกป่าแกะรอยกอริลล่า ต้องอาศัยคนนำหลายคนเพราะต้องมีทั้งผู้ชำนาญการแกะรอยสัตว์ และผู้พิทักษ์ความปลอดภัย เพราะป่าที่เราเดินเข้าไปนั้นเป็นป่าดงดิบที่รกชัฎ และไม่มีทางเดินให้เดินตามแต่ต้องฟันป่าแกะรอยกอริลล่าไปเรื่อยๆสุดแต่ว่าจะเห็นรอยมันไปทางไหน นอกจากนี้ยังมีทีมแกะรอยที่ออกเดินแกะรอยตั้งแต่มืดล่วงหน้าไปก่อน แล้วส่งวิทยุบอกหมายให้ทีมที่นำนักท่องเที่ยวเข้าไป เรียกว่าใช้กำลังคนเยอะทีเดียวในแต่ละวัน ดังนั้นการที่อนุญาตให้คนเข้าไปชมได้วันละไม่กี่คนจึงเป็นความ “น้อยแต่มาก” ทั้งในแง่คุณภาพของประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวจะได้ และคุณภาพชีวิตและสภาวะแวดล้อมของกอริลล่าที่จะไม่ภูกรบกวนมากจนเกินไป
แม้ Gorilla Tracking จะเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง เจตนาและความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์กอริลล่าและป่าแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่รวันดาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ใครเคยดูหนังเรื่อง Gorilla in the Mist คงจำได้ไม่ลืม ถึงเรื่องราวจากชีวิตจริงของ Dian Fossey นักสัตววิทยาหญิงชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษาวิจัยพฤติกรรมกอริลล่าและรณรงค์ต่อต้านการล่ากอริลล่าเพื่อการค้าเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว เธอเดินบุกป่าฝ่าดงเข้าไปนอนกลางป่า ทำทะเบียนบันทึกกอริลล่าแต่ละตัว เป็นมิตรกับมันและรักเหมือนลูก แต่ความขัดแย้งและต่อต้านจากชนเผ่าพื้นเมืองมากเหลือเกินเพราะเธอเข้าไปขวางผลประโยชน์ สุดท้ายเธอถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยมปริศนา ร่างของเธอถูกฝังอยู่ในป่าลึกเคียงคู่กับกอริลล่าตัวโปรดคู่ใจ แต่โชคดีที่การตายของเธอไม่เปล่าประโยชน์ รวันดาและทั่วโลกเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุ์กอริลล่าภูเขาที่ปัจจุบันเหลือเพียง 700 กว่าตัวเฉพาะในเขตแอฟริกานี้ จึงมีกลุ่มอนุรักษ์ที่เคลื่อนไหวต่อเนื่อง และรัฐบาลเองก็จัดการปราบปรามการล่าค้ากอริลล่า และหาเงินในการจัดการเก็บประวัติและดูแลสภาพแวดล้อมโดยจัดทัวร์ให้เดินบุกป่าเข้าไปชมอย่างที่ฉันกำลังจะไปนี่แหละอย่างเป็นระเบียบ ฉันจึงไม่เสียดายค่าเข้าชมหมื่นกว่าบาทต่อเวลาสี่ชั่วโมงในการเดินและหนึ่งชั่วโมงในการอยู่ใกล้ชิดกับกอริลล่า ถือว่าเป็นค่าบำรุงช่วงเหลือพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และก็น่าชื่นใจที่จำนวนกอริลล่าที่มีอยู่น้อยนิดนี้มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากการดูแลอย่างดี หวังว่ามันคงจะไม่สูญพันธุ์ไปอย่างแน่นอน
เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อย เราก็จะรู้ว่าอยู่กลุ่มไหนไปกับไกด์คนไหน ไกด์กลุ่มเราเรียกบรีฟแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ ที่สำคัญคือแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับกอริลล่า เวลาฉันบอกว่าจะมาเดินป่าตามดูกอริลล่าแบบในหนังคนก็ชอบถามว่าไม่กลัวมันเหรอ นี่คือความรู้ผิดๆ ตัวมันแค่ใหญ่น่ากลัวและเราไปจำภาพคิงคองจากหนังฮอลลีวู้ดที่ทำหลอกคนดูมา จริงๆกอริลล่าเป็นสัตว์ที่ใกล้เคียงคนมากและอ่อนโยน มันเป็นมังสวิรัติดังนั้นมันไม่นึกอยากกินเราแน่นอน เพียงแต่เวลาที่เราเข้าไปในเขตที่มันอยู่เราก็ต้องทำตัวให้เหมาะสมกลมกลืน ไปบ้านใครก็ปฏิบัติตามวัฒนธรรมเขา ว่างั้น ห้ามพูดเสียงดัง ห้ามชี้นิ้ว ให้เคลื่อนไหวตัวช้าๆ อย่าเข้าใกล้เกินสองเมตร ยกเว้นแต่ว่าถ้ามันจะเข้ามาหาเราเองก็เฉยๆ อย่าไปหยุกหยิก คือถ้ามันตกใจขึ้นมาเพราะนึกว่าถูกทำร้ายมันอาจจะป้องกันตัว คือแค่มันสะดุ้งเบาะๆเราก็คงเหวอะ
กอริลล่าที่รวันดานี้ขึ้นทะเบียนมีชื่อเสียงเรียงนามทั้งหมด มันจะอยู่เป็นฝูงๆ แต่ละฝูงจะมีจ่าฝูงที่มีสัญลักษณ์พิเศษคือขนหลังเป็นแนวสีขาวเงินที่เรียกว่า Silverback Gorilla ซึ่งตัวไหนได้เป็นจ่าฝูงก็จะรับตำแหน่งไปตลอดชีวิต ไม่มีการโค่นอำนาจกัน ที่ฉันตื่นเต้นมากก็คือว่า ฝูงที่เราจะได้ไปดูนั้นคือครอบครัว Susa เป็นฝูงที่ใหญ่ที่สุดมี 38 ตัว มี Silverback 3 ตัว และมีลูกกอริลล่าเล็กๆน่ารักหลายตัว โชคดีอะไรอย่างนี้ เขาว่าฝูงนี้ได้เห็นยากที่สุด และต้องเดินเข้าไปลึกและโหดกว่ากลุ่มอื่นจึงจะได้เห็น เขาว่าจะเลือกกลุ่มคนที่แลดูแข็งแรงเดินเก่งให้ได้รับเกียรติไปดูฝูงนี้ ไม่รู้จริงหรือเปล่า
รับบรีฟแล้วมีการอุ่นเครื่องความตื่นเต้นอีกนิดหน่อยโดยมีชาวพื้นเมืองแต่งตัวแบบคนป่ามาเต้นกลางสนามให้ดูสร้างความคึกคัก อากาศค่อนข้างเย็น มีชากาแฟตั้งไว้ให้ชงกินกันเองให้ความอบอุ่น เกือบแปดโมงไกด์ก็บอกให้ไปขึ้นรถส่วนตัวที่ต่างคนต่างว่าจ้างกันมาเอง คนรถแต่ละคันได้รับการบรีฟและรู้งานกันดีอยู่แล้ว เพราะจากจุดนี้ต้องนั่งรถบุกเข้าไปในหมู่บ้านลึกมากถึงชายป่าดงดิบ ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น ระหว่างทางผ่านเมืองเล็กๆสุดท้ายเราขอแวะซื้ออาหารรองท้องมื้อเช้า ไม่อย่างนั้นเดินไม่ไหวแน่นอน สองฝั่งถนนชาวบ้านใส่ชุดพื้นเมืองสีสันสดใสเดินทูนกระบุงใส่ผักผลไม้เดินมาขายในตลาด ได้ขนมปัง เนย และซื้ออโวคาโดจากแม่ค้าที่ตั้งกระบุงขายอยู่กับพื้นริมถนนมา กินง่ายๆอร่อยๆในรถขณะที่นั่งหัวสั่นหัวคลอนไปบนถนนลูกรัง ไกด์บอกนี่คือ African Massage สุดยอดแห่งความกันดาร ในที่สุดรถก็มาจอดที่ลานดินแดงใกล้กับอาคารบุโรทั่งอย่างชายแดนบ้านนอกของไทยเมื่อสามสิบปีที่แล้ว นี่คือโรงเรียนในหมู่บ้านชายป่า เราได้รับเกียรติเชิญให้ไปเข้าห้องน้ำของโรงเรียนให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางใหญ่ ซึ่งเป็นส้วมหลุมขุดลงไปในดิน อึ๊ย สยองไม่แพ้กับเมืองจีนบ้านนอกชายแดนธิเบต กลั้นหายใจและหลับตา ฮึด เพื่อกอริลล่าทำได้ทุกอย่าง
และเวลาออกเดินก็มาถึง เราออกเดินจากโรงเรียนนั้นเอง ไต่ไปตามเรือกสวนที่ชาวบ้านเพาะปลูกพืชพันธ์ต่างๆเอาไว้ จากโรงเรียนซึ่งอยู่ตีนเนินมองขึ้นเนินเขาไปเห็นไรป่าเขียวเข้มทึบเป็นแนวรออยู่ข้างหน้าไม่ไกลเลยแต่ทำไมเดินเท่าไรก็ไม่ถึงสักที อากาศก็ดี หนาวแต่สะอาดสดชื่น ขาทำไมมันล้าสุดๆแค่เดินไตสวนขั้นบันไดขึ้นไป ฉันนึกว่าหรือเรากินอาหารเช้ารองท้องน้อยไป ปรากฏคนที่มาด้วยทั้งกลุ่มข้างหลังร้องโอดโอยขอให้ไกด์หยุดพักกันเป็นแถว หันไปดูคนที่ท่าทางจะไม่ไหวเอาตั้งแต่ต้นหลายคนทั้งที่ดูฟิตๆกันทั้งนั้น เลยรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เหนื่อยขนาดนั้น เทคนิคเวลาเดินเหนื่อยคือให้สูดหายใจเข้าลึกๆให้ถึงท้องล่างแรงๆแล้วหายใจออกแรงๆให้หมด ทำแค่ห้าครั้งมีแรงเดินต่อเลย รับรองว่าได้ผล
พอถึงแนวชายป่าดงดิบไกด์ก็กำชับกฏกติกาที่บรีฟมาแล้วอีกที ไกด์นำทางกระชับปืนยาวในมือ ไหนว่าไม่น่ากลัวไง เขาว่าเผื่อไว้ นี่คือป่าดงดิบจริงๆ มีสารพัดสัตว์ ไม่ได้มีแต่กอริลล่า จากราวป่านี้เราจะต้องเดินลุยเข้าไปในป่าที่ไม่ที่ทางที่ถางไว้ให้เดินอีกชั่วโมงหนึ่ง เป็นการเดินไต่ขึ้นที่สูงด้วย อากาศชื้นและค่อนข้างเย็น มีหมอกขาวจางๆกั้นเป็นฉากขวางสมชื่อหนัง “Gorilla in the Mist” ที่ตั้งได้เห็นภาพมากอย่างไรอย่างนั้นเลย ยิ่งเพิ่มอารมณ์ลุ้นตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีก ดินลื่นเป็นโคลนบางระยะ ต้องระวังมาก ยิ่งลึกยิ่งเดินยาก บางจุดต้องเหนี่ยวโหนกิ่งไผ่สาวตัวขึ้นไปเพราะพื้นไม่มีที่ให้เหยียบ เดินป่าเดินเขามาพอควรไม่เคยโหดเท่านี้ บางทีก็ไถลไปตามพื้นเลย ทางนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มี ไกด์มุดแหวกต้นไม้เข้าไปทางไหนเราก็พุ่งแหวกตามไปทางนั้น สมกับคำว่า “บุกป่าฝ่าดง” จริงๆ มาได้ชั่วโมงกว่าก็เริ่มเห็นก้อนอึโตๆตามพื้นที่เต็มไปด้วยใบไผ่ ไกด์บอกว่าเราใกล้เข้ามามากแล้ว นี่คืออึกอริลล่าสดๆเมื่อเช้ามืด เกิดมาฉันก็เพิ่งจะต้องมองก้อนอึด้วยความปลาบปลื้มดีใจนี่แหละ
หลังจากล้มลุกคลุกคลานไต่ขึ้นทางชันโดยตลอดจนมอมแมม (จากดินไม่ใช่จากอึกอริลล่า) เราก็มาถึงบริเวณที่เรียบให้ยืนพักได้ พื้นเป็นหญ้าคาสูงๆที่ล้มราบแบนเป็นหน้ากลอง ไกด์รอให้ทุกคนเข้ามายืนหอบแฮ่กๆรวมกันแล้วก็บอกว่า หญ้าที่ล้มราบนี่คือฝีมือกอริลล่านั่นเอง ซึ่งแปลว่า….. ใช่แล้ว! เราได้มาถึงจุดที่ใกล้เจ้าลิงยักษ์มากแล้ว ดังนั้น…ทุกคนจงเงียบที่สุด…แล้วไกด์ก็พยักหน้าให้เราเดินตาม เพียงแค่สามก้าว จากมุมที่เราเคลื่อนผ่านก็เผยให้เห็นเจ้ากอริลล่าตัวเบ้อเริ่มนั่งหน้าแป้นอยู่ ข้างๆมีอีกตัวเล็กกว่าขนาบและลิงเด็กอีกตัว ใกล้เพียงแค่นี้เอง ตาสบตา…ไม่น่าเชื่อ ในที่สุดฉันก็ได้มาเผชิญหน้ากับเจ้าลิงยักษ์ที่เหลือไม่กี่ตัวในโลกแบบไร้กรงกั้น ในบ้านของมัน ในถิ่นของมัน ในป่าของมัน ที่ฉันอุตส่าห์ดั้นด้นมาหา จะมีคนกี่คนที่โชคดีมีโอกาสเช่นนี้ “สวัสดีเพื่อนรัก ฉันตั้งใจมาเยี่ยมเธออย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นและเจตนาดีเลยนะ เธอสวยเหลือเกิน”
เจ้ากอริลล่าทั้งกลุ่มไม่ได้แสดงอาการสนอกสนใจผู้มาเยือนเลย มันยังคงนั่งอืดๆแกะเห็บแกะเหาตามตัวไปเรื่อย บางตัวก็นอนอาบแดดหลับสบาย ปล่อยให้เราถ่ายรูปอย่างตื่นเต้นโดยทำปากพะงาบๆบุ้ยใบ้ทำท่าทางตื่นเต้นใส่กันเพราะใช้เสียงไม่ได้ มันคงนึกว่ามนุษย์นี่กิริยาท่าทางพิลึก ไกด์พาเดินอ้อมพุ่มไม้ไปนิดนึง โอ้โห เจ้ากอริลล่านั่งกันอยู่อีกเป็นกลุ่มๆหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีตัวผู้หลังขาวหรือ Silverback ตัวเมียสองสามตัวและกอริลล่าเด็กปะปนกัน กลุ่มที่อยู่ใกล้ๆนี้มีตัวเล็กมากๆสองตัวไกด์ว่าเป็นลูกแฝดกำลังซนเล่นแกล้งแหย่กันเองแล้วล้มกลิ้งเป็นมวยปล้ำกันไปมาน่ารักมากๆ ตัวเมียจับลูกอีกตัวที่โตกว่าหน่อยนั่งตักแล้วหาเห็บลูก จับได้ก็ใส่ปากเคี้ยวจั๊บๆ ส่วนตัวผู้นั้นนอนอืดอย่างเดียวเหมือนกันทุกตัว ขี้เกียจจริง ไม่เหมือนตัวเมียเลย
เรายืนถ่ายรูปกันอย่างตื่นเต้นเมามันแต่เงียบกริบกับกลุ่มโน้นทีกลุ่มนี้ที ร่วมเวลาชั่วโมงหนึ่งได้ ไม่มีเบื่อไม่มีเมื่อยทั้งที่บริเวณที่ยืนได้นั้นเป็นกองหญ้าคาที่จำกัดบริเวณ เพราะเขาห้ามไม่ให้เราเข้าใกล้เกินสองเมตร ฉันถ่ายวิดิโอไว้เยอะเลยเพราะอดใจไม่ไหว กอริลล่าตัวเบ้อเริ่มทั้งฝูงนั่งๆนอนๆให้เราแทะโลมด้วยสายตาอย่างไม่เขินอาย นี่มัน Animal Planet แบบประชิดชนิดหาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว และอนาคตจะกลับมาอีกก็ไม่รู้ว่าจะไต่เขาหฤโหดนี่ไหวอีกหรือเปล่า
ขณะที่จวนถึงเวลากลับ ทันใดนั้นเจ้าหลังขาวตัวใหญ่ยักษ์ที่นั่งหลับในมาดราชากลางฮาเร็มมาตลอดก็ลุกขึ้นบิดขี้เกียจ แล้วค่อยๆเดินสี่ขาอาดๆอย่างเชื่องช้าแต่มาดหยิ่งเหลือร้าย ผ่านหน้าเราไปจากขวาไปซ้าย และโดยที่มันไม่ต้องส่งเสียงหรือกิริยาอะไร กอริลล่าตัวอื่นที่ไม่ว่ามันจะทำอะไรอยู่ก็ทะยอยลุกขึ้นแล้วเดินตามกันไปเป็นแถวอย่างไม่อิดเอื้อน รวมทั้งตัวผู้หลังขาวตัวอื่นด้วย ไกด์กระซิบบอกว่า นั่นหละเขาหละ Silverback จ่าฝูงตัวจริง มันดูยิ่งใหญ่เรืองอำนาจมาก ไม่ใช่เพราะขนาดตัวมันที่ทำให้ตัวอื่นกลัว แต่เป็นเพราะบารมีและการปกครองของมัน กอริลล่าจ่าฝูงจะปกป้องดูแลฝูงของมันอย่างดีตลอดชีวิต ไม่มีการประท้วงยึดอำนาจ เรียกว่าอยู่ได้ด้วยใจจริงๆ และฝูงที่เราได้โชคดีที่สุดที่ได้มาเยือนนี้ เป็นฝูงที่ใหญ่ที่สุดจึงมีจ่าฝูงที่น่าเกรงขามที่สุดด้วย ฉันนึกในใจว่าโชคดีอีกแล้วเราในเรื่องเดินทาง
ฉันยืนมองเจ้าจ่าฝูงเดินนำกอริลล่าทั้งหมดอย่างช้าๆลึกเข้าไปในป่าทีละตัวๆ ตัวเมียที่มีลูกเล็กก็จับลูกใส่หลังไปด้วย ลูกที่โตหนอ่ยก็เดินเคียงข้างแม่ไปอย่างเคล้าคลอ ตัวผู้อื่นๆเดินตามกันไป ช้าๆ เงียบๆ เหมือนขบวนยาตรา หายเข้าสายหมอกไปทีละตัวๆ จนสุดท้ายเหลือเพียงบริเวณผืนหญ้าโล่งๆกลางป่าทึบ เสมือนฉากสายหมอกขาวที่ว่างเปล่านี้ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตใดมาก่อน
เหมือนฉากแห่งความฝัน ที่ขาวๆเบลอๆ แต่ฉันรู้ว่ามันคือความจริง เพราะฉากขาวๆนั้นคือสายหมอกบนเขาทึบที่กระทบแก้มจนเย็นชื้นสัมผัสได้ กอริลล่าฝูงหนึ่งในเจ็ดร้อยกว่าตัวสุดท้าย ฉันได้มาเห็นและสัมผัสแล้วด้วยตาและใจอย่างชัดเจน ขอให้เธออยู่ดีมีสุขและพ้นจากการไล่ล่าตลอดไป ฉันกระพริบตาไล่น้ำชื้นๆปลายขนตา เมื่อลืมตากว้างอีกครั้ง สายหมอกขาวก็ปลิวพัดผ่านเข้ามาเป็นฉากกั้นเหมือนม่านเวทีที่รูดปิด ไม่มีใครรู้ว่าหลังม่านฉากขาวนั้น กอริลล่าภูเขาฝูงใหญ่เดินหายลับเข้าป่าลึกไปแล้วหรือนอนแอบอยู่อย่างไม่ไยดีผู้ชม
How to Get There
จากกรุงเทพบินเข้ารวันดาสะดวกที่สุดโดย Kenya Airways ออกกลางคืนตรงไปลงที่ไนโรบีเช้าตรู่ แล้วต่อเครื่องอย่างสะดวกง่ายดายเข้ากรุงคิกาลี เมืองหลวงของรวันดาเลยตอนสายๆ ได้เที่ยวเลยทั้งวัน หรือบิน Qatar Airways หรือ Emirates ไปเปลี่ยนเครื่องที่กรุงกาต้าร็หรือดูไบเพื่อเข้าคิกาลีก็ได้ แต่จะไม่ได้นอนยาวบนเครื่องเพราะต้องเปลี่ยนเครื่องครึ่งเวลาบิน
วีซ่านั้นไม่มีที่ให้ขอในเมืองไทย ต้องเข้าไปในเว็บไซท์ยื่นเรื่อง แล้วสถานทูตจะส่งเป็นจดหมายผ่านให้ทางอีเมล์ ซึ่งเราพิมพ์ออกมาแล้วเอาไปยื่นที่สนามบินคิกาลีตอนมาถึงก่อนเข้าตรวจคนเข้าเมือง พร้อมจ่ายเงิน 30 เหรียญยูเอส เป็นการขอวีซ่าแบบ on arrival
https://www.migration.gov.rw/Visa.htm
Where to Stay
ในกรุงคิกาลีต้องพักที่โรงแรม Mille Collines ของแท้ตำนาน Hotel Rwanda โทร +250(0)252 576530
Where to Eat
ร้านอาหารอียิปต์ Lalibela ในเมืองคิกาลี อร่อยมากๆ เอามือหยิบอาหารบนใบตองในถาดแบ่งกัน ที่อยู่ Avenue Lac Muhazi – Kimihurura | Remera, Kigali 250, Rwanda Tel: 250 788 505293
Silverback ในโรงแรม Hotel Gorillas อาหารฝรั่งเศสและนานาชาติ นั่งกินในสวนบรรยากาศเหมาะกับมื้อกลางวันละเลียดสบายๆมากๆ ที่อยู่ Rue de Parc, Kigali Tel : +250 252 501717
Chez Robert อาหารบุฟเฟ่ต์แบบยุโรป คุณภาพดี บรรยากาศในบ้านเก่าได้อารมณ์สบายๆ เหมาะกับมื้อกลางวันกับเพื่อนหรือครอบครัว ที่อยู่ Avenue de la Republique, Kigali Tel:+250 252 501 305
ลองกิน Brochet คือเนื้อเสียบไม้ปิ้งนั่นเอง ใครไม่กินเนื้อวัว แกะ หรือแพะ จะลำบากหน่อยเพราะเป็นโปรตีนหลักของที่นี่
Tips
คนรวันดาถือเรื่องสิทธิส่วนบุคคลในการถูกถ่ายภาพ เวลาเดินถ่ายรูปในเมืองต้องระวังและเคารพสิทธิของคนพื้นเมือง
การซื้อตั๋วทัวร์เดินตามรอยกอริลล่านั้น ถ้าไม่มีคนรู้จักอยู่ในรวันดาที่ช่วยซื้อตั๋วและจองรถให้อย่างฉัน ให้ซื้อผ่านบริษัททัวร์ดีที่สุด เขาจะได้จัดทุกอย่างให้พร้อมเลยทีเดียวเพราะต้องประสานงานหลายฝ่าย และเว็บไซท์ทางการของอุทยานก็ไม่มี การหาบริษัททัวร์นั้นไม่ยาก กูเกิ้ลคำว่า Gorilla Tracking Rwanda แล้วเข้าไปเลือกบริษัททัวร์ตามชอบเลย
อ่านแล้วได้ความรู้มากจริง
ขอบคุณค่ะ
น่าไปค่ะ
น่าไปมากๆเลยค่ะ
น่าไปมากๆค่ะ
น่าไปมากๆค่ะ
ต้องบอกว่าสุดยอดจริงๆค่ะ ปีหน้ากำลังจะกลับไปรวันดาอีกครั้ง อาจมีอะไรมาอัพเดตนะคะ
นอกจากเนื้อที่สนุก ทำให้ติดตามอ่านได้อย่างเพลิดเพลินแล้ว การใช้ภาษายังเรียบเรียงได้สวยงามชัดเจนตลอดทั้งเรื่อง
เหนือฟ้า..ยังมีฟ้า จริงๆ
ชอบหนังเรื่องนี้มากค่ะ ยังประทับใจไม่รู้ลืมกับ “กอลิล่าสุดสายหมอก” น่าดีใจและอิจฉาแทนจริงๆที่ได้ไปนะค่ะ
ใช่เลยค่า เรื่องนั้นเลย
Comments are closed.