เช้าตรู่เมื่อหมอกยังไม่จางดี ที่ร้านกาแฟสดในปั๊มน้ำมันบนทางหลวงหมายเลขหนึ่ง เลยตัวเมืองกำแพงเพชรมาไม่ไกล ลุงชงกาแฟไปพลางเมียงมองมายังรถโฟร์วีลไดรฟว์ของเราที่บรรทุกข้าวของเครื่องใช้และเสบียงเพียบ แล้วถามด้วยเสียงเปี่ยมความสงสัยว่า “จะไปเที่ยวไหน ของเต็มรถขนาดนี้”
คนขับมือหนึ่งของฉันตอบลงเสียงหนักแน่นหากอมยิ้มว่า “บอกไปก็ไม่เชื่อ”
ลุงอึ้งไปนิดหนึ่งด้วยคำตอบที่คาดไม่ถึง และคงประมาณไม่ถูกด้วยว่า คำตอบนั้นเป็นมุกหรือเปล่า แต่ความอยากรู้คงมีมากกว่า ลุงจึงแหย่หาคำตอบต่อ “เชื่อ…บอกมาเถ้อะ….”
“จะขับรถไป…ทิเบต….”
“ฮ้า…………….”
นั่นคือปฎิกิริยาที่ฉันได้รับจนชินเสียแล้ว เมื่อบอกใครต่อใครว่า จะขับรถไปทิเบต … จากกรุงเทพ
แต่สำหรับเรา Road Trip อันเหลือเชื่อนี้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น อีกส่วนที่ทำให้การเดินทางครั้งนี้สมบูรณ์และน่าตื่นเต้นจนตัองนับวันรอก็คือ จุดหมายปลายทางในทิเบตที่น้อยคนนักจะได้ไปถึง นั่นคือ Shangri-La หรือดินแดนลึกลับสุดขอบฟ้าที่สวยงามราวแดนสวรรค์จากหนังสือ Lost Horizon อันโด่งดังของ James Hilton ที่ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ใด จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ที่โลกได้พบหลัฐานมากพอจนสรุปได้ว่า Shangri-La อยู่ที่อำเภอตี๋ชิง ในมลรัฐยูนนานติดกับทิเบตของประเทศจีน
สำหรับนักเดินทางตัวยง Shangri-La คือหนึ่งในรายชื่อจุดหมายที่ต้องไปเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิต ด้วยความสดใหม่ของสถานที่ที่เพิ่งเปิดสู่โลก ด้วยความไกลและลำบากที่ชวนท้าให้พิชิต ด้วยตำนานอันลึกลับที่ชวนค้นหา และด้วยคำล่ำลือถึงความงามที่ว่าดังสวรรค์ กระทั่งชื่อ Shangri-La กลายมาเป็นคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึง”สรวงสวรรค์”
แต่สำหรับคนส่วนมาก Shangri-La คือเพียงชื่อโรงแรมห้าดาว อันที่จริงก็ถูกต้อง เพราะความลึกลับของ Shangri-La จากหนังสือ Lost Horizon อันเป็นตำนานอยู่นานปีนั้น ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้ Shangri-La ได้กลายเป็นชื่อที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อบริษัท สินค้าและบริการมากมายทั่วโลก ไม่รู้ว่า James Hilton นักเขียนชาวอังกฤษจะตั้งใจและรู้ล่วงหน้าหรือเปล่า ว่าเขาได้ทำให้คนทั่วโลกเชื่อและตามหา Shangri-La จนกลายเป็นปรากฏการณ์เช่นนี้ เมื่อเขาได้วางแผงหนังสือ Lost Horizon เมื่อปี 1933 และได้บรรยายถึงดินแดนลึกลับที่เขาบังเอิญค้นพบและใช้ชีวิตอยู่หลายปี จากการที่ต้องลงจอดเครื่องบินอย่างฉุกเฉิน ว่าเป็นดินแดนที่สวยงามดังสวรรค์ มีภูเขาสูงยอดแหลมดังปิรามิดที่ปกคลุมด้วยหิมะขาว มีแม่น้ำสามสายและโตรกผาลึก ทะเลสาบที่ใสราวแก้วผลึก ทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่และสวยงาม มีวัดโบราณที่ลึกลับและขลังศรัทธา และมีผู้คนที่เปี่ยมสุข รักสงบ จิตใจที่สูงส่งและปรารถนาสังคมที่มีแต่ความดีงามดังสวรรค์ ฮิลตันได้ทิ้งปมไว้ให้คนทั้งโลกเชื่อและต่างออกแสวงหาดินแดนสวรรค์สุดขอบฟ้านี้ ก่อนที่จะจากโลกไปโดยทิ้งความลับนี้ไว้อย่างไร้ร่องรอยของคำเฉลย กว่าห้าสิบปีที่ผู้คนออกแสวงหา Shangri-La อย่างมุ่งมั่นไปทั่ว อินเดีย เนปาล ทิเบต ต่างพากันออกมาประกาศว่า Shangri-La อยู่ในประเทศตนด้วยสารพัดหลักฐานอ้างอิง หากไม่มีใครพิสูจน์ได้จริง จนกระทั่งไม่นานมานี้ที่เหล่านักสำรวจและวิจัยได้สรุปว่า Shangri-La อยู่ที่อำเภอตี๋ชิง (Diqing) ซึ่งประกอบไปด้วยสามเมืองคือ จงเตี้ยน เต๋อชิงและเหวยซี รัฐบาลจีนจึงได้ประกาศให้เมืองจงเตี้ยนเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็น Shangri-La เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2002
ไม่ว่า Shangri-La จะอยู่ที่ตี๋ชิงจริงหรือไม่ หรือแม้แต่ว่า Shangri-La ของ James Hilton มีจริงหรือไม่ ป้ายถนนและชื่อในแผนที่ของจงเตี้ยนก็ได้เปลี่ยนเป็น Shangri-La ไปเรียบร้อยแล้ว และวันนี้จีนก็เร่งพัฒนาให้จงเตี้ยนและเต๋อชิงเป็นเมืองท่องเที่ยวที่หวังจะนำเงินมหาศาลเข้าประเทศแล้วในอนาคต
จะอย่างไรก็ตามแต่ สำหรับเราผู้มี Shangri-La อยู่ในรายชื่อปลายทางในฝัน การที่จะได้ไปเยือนโดยเฉพาะขับรถไปจากบ้านเป็นระยะทางเกือบสามพันกิโลเมตร ผ่านประเทศไทย ลาว จีน จนถึงทิเบต จากอากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน ไปจนถึงยอดเขาสูงที่ถนนปกคลุมด้วยหิมะสูงเกือบห้าพันเมตรจากระดับน้ำทะเล การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นดังสุดยอดเส้นทางขับรถในฝัน และบอกไปก็ไม่มีใครเชื่อจริงๆ
ขบวนคาราวานบนเส้นทาง 5,600 กิโลเมตร
เนื่องจากการนำรถขับเข้าพม่าและจีนมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก ในจีนจะต้องมีรถตำรวจนำตลอดทาง และเส้นทางการเดินทางค่อนข้างกันดารเป็นส่วนมาก โร้ดทริปคราวนี้จึงเป็นการรวมตัวของคาราวานรถโฟร์วีลไดรฟว์ขบวนใหญ่ รถทั้งหมด 23 คัน กว่า 60 ชีวิต จึงต้องมีการวางระเบียบกติกาการเดินทางกันพอควร รถทุกคันมีวิทยุใช้สื่อสารกันตลอดทริป เพื่อแจ้งสภาพการจราจรให้เป็นไปโดยปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ความยาวของขบวนรถจากคันแรกถึงคันสุดท้ายเมื่อเว้นระยะขับแล้วยาวถึง 2 กิโลเมตร การสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก วิทยุช่วยได้เยอะทีเดียวในการบอกให้รถคันหลังรู้ว่าจะแซงขึ้นมาได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อไต่อยู่บนเขาที่คดเคี้ยวและแคบ แถมยังไม่มีเส้นถนนอีก แม้ว่ารถตำรวจที่นำจะคอยโบกให้รถที่สวนมาจอดให้ทางขบวนเราเป็นส่วนมากแล้วก็ตาม
รถทุกคันมารวมตัวกันที่ชายแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย หลังจากติดสติกเกอร์และเบอร์รถแล้ว เราก็ทะยอยกันนำรถขึ้นแพขนานยนต์ข้ามไปเมืองห้วยซาย ประเทศลาว ซึ่งเจ้าหน้าที่ลาวมาตรวจสภาพรถ และติดทะเบียนรถชั่วคราวให้ ที่เก๋คือรถแต่ละคันได้รับแจกพาสปอร์ตรถด้วย สำหรับเมืองจีน เมื่อผ่านเข้าด่านแล้วก็ต้องตรวจสภาพรถเช่นกัน และรถแต่ละคันจะได้รับแจกป้ายทะเบียนรถจีนให้ติดเป็นการชั่วคราวตลอดทริปด้วย
เส้นทางในลาวจากห้วยซายถึงหลวงน้ำทาแม้จะเพียง 190 ก.ม. แต่ต้องใช้เวลาขับถึง 6 ชั่วโมง ด้วยถนนลูกรังที่เป็นหลุมเป็นบ่ออย่างแย่อยู่แล้วนั้น ยิ่งขับได้ช้ายิ่งขึ้นเพราะมีการก่อสร้างทำถนนตลอดทาง แถมเป็นการทำถนนขั้นต้นเสียด้วย ทางจึงเหมือนไม่ใช่ทางรถวิ่ง แต่เป็นแนวทางที่กรุยให้งานก่อสร้างเข้าไปมากกว่า แต่บรรดานักขับรถโฟร์วีลไดรฟว์ก็ได้สนุกเต็มที่กับการเล่นกับรถและสภาพวิบากของถนน เรียกว่าทั้งลุยฝุ่น ลุยโคลน ลุยน้ำ ขับข้ามห้วย ขับข้ามเขา ตกบ่อ ตกหล่ม ลื่นเพราะฝุ่น ไถลเพราะโคลน กระเด้งกระดอนเพราะหิน แถมยังต้องใช้ทักษะการขับขั้นสูงเวลาสวนกับรถตักดินและรถสิบล้อตรงโค้งแคบที่ไหล่เขา
กว่าจะถึงเมืองหลวงน้ำทาที่ระยะทางไม่ไกลเลยนั้น ทั้งคนนั่งคนขับก็สะบักสะบอมกันเต็มที่ ไม่ต้องถามถึงรถที่เต็มไปด้วยฝุ่นโคลน นี่เพียงแค่ครึ่งวันแรกเท่านั้น
หลังจากกินข้าวกลางวันยามบ่ายที่หลวงน้ำทา เราก็บึ่งตรงสู่ชายแดนลาว-จีน ผ่านด่านบ่อเต็นที่ลาว และเข้าสู่จีนที่ด่านโมฮัง จากนั้นก็เป็นการขับตะลุยเร่งสู่เมืองเชียงรุ้ง หรือจิ่งหงที่สิบสองปันนา เพื่อพักคืนแรก กว่าจะถึงเชียงรุ้งได้กินข้าวเย็นก็ร่วมเที่ยงคืน นี่เพียงแค่วันแรกและระยะทางเพียง 450 ก.ม. กับการที่อยู่บนรถอย่างเดียวเป็นเวลาร่วม 18 ช.ม. ในสภาพวิบากครบเครื่อง แม้จะทำให้หมดสภาพทั้งคนขับคนนั่ง ก็เป็นการเริ่มต้นที่ชงความตื่นเต้นสำหรับวันรุ่งขึ้นได้ดีทีเดียว เพราะจากพรุ่งนี้ไป เราก็จะได้ขับรถในประเทศจีนที่ถนนหนทางและทิวทัศน์จะต่างไปจากที่เคยชิน นับเป็นการเริ่มบรรยากาศเดินทางมุ่งสู่แชงกรี-ลา ที่เพียงแค่นึกก็น่าตื่นเต้นจะแย่เสียแล้ว
รุ่งขึ้นทุกคนจึงตื่นแต่เช้าไม่มีการโอ้เอ้ และยังคึกคักเป็นพิเศษ ต่างตรวจเตรียมพร้อมสภาพรถของตัวกันใหญ่ เพราะเส้นทางวันนี้แม้จะไม่กันดารเท่าในลาว แต่ก็เป็นการขับตะลุยและทำเวลาได้ช้าเช่นกัน จากเชียงรุ้งเราจะขับตรงมุ่งสู่เมืองหลินซางซึ่งจะถึงในตอนค่ำ ใช้เวลาขับรถลุยยาวร่วม 13 ชั่วโมง แม้ระยะทางเพียง 450 ก.ม. เส้นทางนี้เป็นเส้นทางสายชนบทที่ไต่ไปบนเขา ทิวทัศน์สวยงามมาก คล้ายเส้นทางสายเชียงดาว-เชียงราย แต่ที่พิเศษและทำให้เราขับเร็วไม่ได้คือ ถนนที่ปูด้วยหินทั้งเส้นตลอดสาย เป็นถนนหินโบราณที่สภาพยังดีอยู่มาก ไม่น่าเชื่อที่คนโบราณสามารถสร้างถนนบนเขาที่คดเคี้ยวอย่างนั้นได้เป็นร้อยๆกิโล โดยเอาหินมาเรียงทีละก้อนๆ และยังคงสภาพที่ดีมาถึงปัจจุบัน แม้รถยนต์จะแล่นไปได้ไม่เร็วทันใจเหมือนถนนคอนกรีตบนไฮเวย์ก็เถอะ แต่ก็เป็นเส้นทางอันน่าประทับใจ ที่นักขับรถโฟร์วีลควรมีประสบการณ์สักครั้ง
พักค้างคืนที่หลินซาง เช้าวันต่อมาก็เป็นการขับลุยยาว 9 ชั่วโมงอีกครั้ง ในระยะทาง 380 ก.ม. สู่เมืองต้าลี่ ดีหน่อยที่วันนี้พอมีเวลาได้แวะกินข้าวกลางวันที่ร้านอาหารเป็นเรื่องเป็นราวที่เมืองเล็กๆทางผ่าน ชื่อเมืองม่านวาน ซึ่งต่อมาฉันสรุปว่าเป็นมื้อที่รสชาติอาหารดีที่สุดตลอดสิบสองวัน อาหารจีนแถวนี้กินแทบไม่ได้เลย โดยเฉพาะยิ่งขึ้นเหนือใกล้เข้าทิเบตและเขตเสฉวน ซึ่งเป็นเพราะอากาศหนาว อาหารจะมันมาก หมูมีแต่มันจนน่าสงสัยว่าเขาเอาเนื้อไปทิ้งที่ไหนกันหมด ส่วนไก่ก็สับรวมมิตรมาหมดทั้งคอขากระดูก เนื้อไม่มีอีกเหมือนกัน ทุกอย่างเป็นการผัดในน้ำมัน ผัดผักที่ปกติเป็นจานโปรดของฉันที่ทำอย่างไรก็อร่อยได้เสมอ ที่นี่ก็ยังแทบกินไม่ได้เพราะเหมือนเอาผักไปต้มในน้ำมันหมู จืดๆมันๆ ตักเข้าปากทีนึกเห็นภาพเม็ดไขมันวิ่งเข้าไปรวมตัวกันรออยู่ที่เส้นเลือดหัวใจ เลยพาลกินไม่ลง ส่วนแกงจืดก็ช่างต้มมาได้ขัดแย้งกับวิชาการเรือนที่บรรพบุรุษและครูบาอาจารย์ได้สอนสั่งฉันมาอย่างยิ่ง ที่ว่าน้ำแกงต้องใสแจ๋วแหวว เวลาต้มต้องห้ามขี้เกียจหมั่นตักฟองทิ้ง น้ำไม่เดือดห้ามใส่เนื้อ ใครต้มน้ำแกงไม่ใสถือว่าแย่มากๆ แต่ที่เมืองจีนน้ำแกงขุ่นขาวข้นคลั่กได้เหมือนกันทุกร้านทุกชาม จนนึกเอาว่าคงเป็นตำราของที่นี่ กินไม่ลงอีกเหมือนกัน
ในช่วงที่เป็นทางใต้ของยูนนานคือแถวหลินซางและต้าลี่นั้น มีอาหารเหลาที่เป็นของดีและอร่อยถูกปากอยู่อย่างคือแฮมยูนนานอันขึ้นชื่อ เขาฝานมาเป็นชิ้นๆ ไม่บางมากอย่างฮาโมนหรือแฮมสเปน จึงเคี้ยวได้หนับๆเค็มๆมันๆ ระหว่างทางหลินซาง-ต้าลี่นี้เราขับผ่านหมู่บ้านที่ชาวบ้านทำแฮมยูนนานขาย หน้าบ้านมีขาแฮมห้อยตากเป็นขาๆอยู่เต็มระเบียงไปหมด แลดูเป็นของโฮมเมดน่ากินมากๆ นึกถึงสปาเก็ตตี้ปลาเค็มสูตรพิเศษของฉันที่ต้องใส่แฮมยูนนานแต่มักจะหาซื้อไม่ได้เวลานึกจะทำ กะว่าจะซื้อกลับบ้านติดมาหน่อยแต่ก็ลืม น่าเสียดาย
ถึงแม้สี่วันแรกจะเป็นการตะลุยขับรถทั้งวันและเกือบครึ่งคืน สำหรับฉัน สองวันเต็มบนเส้นทางเชียงรุ้ง-หลินซางนี้ เป็นเส้นทางที่น่าประทับใจตรงที่ได้เห็นวิถีชีวิตชาวจีนต่างจังหวัดแบบธรรมชาติแท้ๆ ได้เห็นลักษณะบ้านเรือนและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ค่อยๆเปลี่ยนไปทีละน้อย จากทางใต้ที่คล้ายลาว ค่อยๆกลายมาเป็นไทยลื้อเหมือนชาวเขาทางเหนือของไทย กลายเป็นจีนมากขึ้นทีละนิด จนเผลอไปนิดเดียวบ้านไม้หลังคาจั่วสูงแบบไทยเหนือ ก็ค่อยๆกลายเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวทรงยาวๆเหมือนเรือนแถวไม้โบราณตามเมืองเก่าบ้านเรา แล้วกลายเป็นตึกอิฐและปูนยาวหลังคาทรงเก๋งจีนไปเสียแล้ว น่าแปลกใจที่ความแตกต่างของวัฒนธรรมนี้ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างกลมกลืน ทำให้น่าครุ่นคิดถึงวิถีชีวิตที่แตกต่าง และน่าเฝ้ามอง เป็นเสน่ห์ของการขับรถทางไกลมากๆที่ฉันเพิ่งค้นพบ และทำให้หลงรักจับใจ
ชาวจีนต่างจังหวัดที่ไกลจากเมืองใหญ่เช่นนี้ นับว่ายังห่างไกลแสงสีมายาและความสะดวกสบายของโลกตะวันตกอย่างมาก ผู้คนอยู่กันอย่างง่ายๆ และเห็นได้ชัดว่าสภาพสุขอนามัยยังล้าหลังอยู่ไกล ไม่ต้องพูดถึงเรื่องห้องน้ำที่ขึ้นชื่อของจีน ตลอดเส้นทางในจีนนั้นห้องน้ำประจำของฉันจึงคือสุมทุมพุ่มไม้ข้างทาง ที่มั่นใจได้ว่าสะอาดกว่าห้องน้ำแน่นอน น่าตลกดีที่หลังจากนั่งรถมาทั้งวัน พอใกล้จะเข้าเมืองเรากลับมุ่งหาที่จอดข้างทางเพื่อเข้าป่า เพราะถ้าเข้าเมืองก็จะไม่มีป่าให้เข้า แต่ต้องไปทนเข้าห้องน้ำเหม็นๆที่ไม่มีประตู กลับตาลปัตรกับเวลาไปประเทศอื่นจริงๆ
แต่วิถีชีวิตของชาวบ้านที่เห็นก็ช่างดูบริสุทธิ์และเรียบง่าย ผู้คนแต่งตัวแบบพื้นเมือง ทำนาเลี้ยงสัตว์กันแบบพอเพียง และคนจีนก็คือคนจีน ที่ขึ้นชื่อเรื่องการขยันทำมาหากินและฉลาดในการเพิ่มพูนผลผลิต นาขั้นบันไดสองข้างทางนั้นจึงต่างไปจากนาขั้นบันไดที่ฉันเคยเห็นมาทั้งหมด คือไม่ว่าภูเขาจะสูงใหญ่เท่าใด มองขึ้นไปชาวจีนก็ขึ้นไปสร้างไว้เป็นขั้นถี่ยิบ แถมทุกหย่อมที่มีพื้นที่เป็นดิน ก็ถูกสร้างเป็นขั้นและหว่านข้าวไว้เต็มพื้นที่ไม่มีเสียประโยชน์แม้แต่นิดเดียว กระทั่งขอบทางหลวงที่ตรงโค้งมีดินอยู่นิ้ดเดียว ก็ยังอุตส่าห์มีบันไดมาอยู่สองขั้น น่านับถือจริงๆ
เพราะว่าชาวบ้านยังอยู่กันแบบง่ายๆและใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆเช่นนี้ ดังนั้นแม้ว่ารัฐบาลจีนจะเร่งสร้างถนนเพื่อนำความเจริญเข้าสู่ชุมชน เราจึงยังเห็นภาพที่ไม่คาดว่าจะได้เห็น จะว่าน่ารักก็ใช่ จะว่าอึ้งๆบอกไม่ถูกก็ใช่อยู่ อย่างเช่นเราแล่นรถทำเวลาอยู่บนซุปเปอร์ไฮเวย์ดีๆ จู่ๆขบวนก็ต้องชะลอจนแทบจะจอด เพราะมีกองคาราวานชาวบ้านเดินจูงฝูงล่อสวนมาตามถนน แถมยังข้ามถนนไปมาเล่นเสียด้วย ตรงริมทางมีคุณป้านั่งยองๆอยู่กับฝูงไก่เป็นๆ คาดว่าถ้าไม่เพิ่งไปซื้อมาก็กำลังจะนำไปขาย พอเลยไปหน่อยก็มีเหมือนตลาดนัดขายสัตว์และอาหารสดกันบนไฮเวย์ ว่ากันง่ายๆแบบนั้นนั่นเอง
พูดถึงตลาด ตลอดทางที่เราผ่านจะมีตลาดอยู่ระหว่างเมืองเป็นช่วงๆ เหมือนตลาดสดชุมชนตามต่างจังหวัดบ้านเรา แต่เห็นได้ว่าเป็นจุดรวมสำคัญที่ชาวบ้านทุกคนในเขตใกล้เคียงมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน ของที่ขายและร้านค้าจึงมีทุกประเภท ที่เห็นได้ชัดคือการซื้อขายสัตว์เลี้ยงและเนื้อสัตว์ที่เป็นอาหารจะขายกันเป็นๆ เราจึงได้เห็นล่อมากมายที่ตลาด และไก่ที่บรรจุในกรงชะลอมหวายเต็มไปหมด ยานพาหนะเครื่องยนต์ที่เห็นมีเพียงอีแต๋นหรือสิงห์คะนองนาแบบจีน กับรถบรรทุกคันน้อยที่ด้านหลังมีหลังคาผ้าใบโค้งมุง หากไม่ใช้บรรทุกของ ก็ใช้เป็นคล้ายรถสองแถวบ้านเรา บรรจุคนนั่งไปกลับจากตลาดกันแน่น อย่าว่าแต่รถ ที่นี่ไม่มีแม้แต่มอเตอร์ไซค์ บ้านเรือนเก่าฝุ่นเกาะคร่ำกระดำกระด่าง บรรดาผู้คนที่แต่งกายแบบจีนพื้นเมือง หอบหิ้วไก่เป็นๆ จูงล่อ ซื้อแตงโมที่ขนมาจากไร่บนรถอีแต๋นดำปี๋เก่าคร่ำ หากจะดูว่าล้าหลังห่างความเจริญก็คงได้ แต่ฉันมองว่าเป็นวิถีที่เรียบง่าย พอเพียง และมีเสน่ห์จริงๆ
ก่อนเข้าเมืองหลินซางเราผ่านอำเภอเล็กๆชื่อหนาเจี้ยน ที่นี่มีการปลูกข้าวบาร์เล่ย์กันมาก เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วแทนที่จะต้องเสียแรงฝัดข้าวให้เหนื่อย ภูมิปัญญาชาวบ้านกลับฉลาดล้ำ เอารวงข้างบาร์เล่ย์มากองเต็มพื้นถนนให้รถแล่นทับนวดให้เมล็ดร่วงหล่นออกจากรวง เราแล่นรถไปถึงเห็นบาร์เล่ย์กองเต็มถนนทีแรกก็พยามยามขับหลบ แต่พอเห็นอาซ้อยืนคอยโบกมือให้แล่นทับเลยเข้าใจ ทีนี้เลยช่วยแล่นทับให้อย่างเต็มใจ เป็นการเป็นอยู่แบบชาวบ้านอีกอย่างที่ว่ากันง่ายๆซื่อๆอย่างนี้เอง
ต้าลี่ เมืองมรดกโลก
หลังจากตะลุยตะลอนขับรถกันไม่หยุดมาสี่วันเต็ม เราก็มาถึงเมืองแรกที่จะได้หยุดแวะ”เที่ยว”กันจริงๆ ต้าลี่ (Dali) ได้ถูกประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก เราเข้าพักที่โรงแรมในเขตเมืองเก่า ชื่อโรงแรมลานหลิงเก๋อ หรือ Landscape Hotel ซึ่งขอแนะนำเป็นอย่างยิ่ง โรงแรมเป็นตึกจีนเก่าหลายตึกเรียงกันเป็นหมู่ ในตึกมีคอร์ทยาร์ดตรงกลาง วางหมู่โต๊ะมุกให้นั่งเล่น ประดับด้วยภาพวาดจีนโบราณ และไล้แสงสลัวเหลืองนวลจากโคมไฟที่ตามอยู่ทั่ว ได้บรรยากาศโรงเตี๊ยมเรโทรเก๋แบบห้าดาว ห้องนอนตกแต่งน่ารักด้วยผ้ามัดย้อมสีน้ำเงินอันโด่งดังประจำต้าลี่ เฟอร์นิเจอร์แบบจีนประยุกต์กับโคมไฟเหลืองนวลสลัว แม้แต่ตู้เสื้อผ้ายังออกแบบคล้ายเตียงนอนจีนโดยใช้ผ้ามุ้งขาวจีบม่านแทนฝาตู้ เพียงตัวตึกโรงแรมก็สวยงามและเต็มไปด้วยเรื่องราวไม่รู้เบื่อแล้ว ใครรักโรงแรมแนว Heritage Hotel ที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบายแบบห้าดาวไม่สมควรพลาด
ที่สำคัญเพียงก้าวเท้าออกด้านหน้าโรงแรมก็คือใจกลางเมืองเก่าต้าลี่ที่น่าเดินเล่นชมไม่รู้เบื่อ ส่วนด้านหลังคือถนนสายชุมนุมของเหล่าฝรั่งนักท่องโลกที่เต็มไปด้วยบาร์เก๋ และถนนชอปปิ้งหลักที่เต็มไปด้วยงานฝีมือแบบพื้นบ้านอันน่าตื่นตะลึงและราคาถูกไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นผ้ามัดย้อมแบบต้าลี่ ราคาผ้าปูโต๊ะขนาดหกที่นั่งเพียงร้อยกว่าบาท หรือเสื้อจีนแนวชางไฮแทงที่ตัวละไม่กี่ร้อยบาทหากไม่รังเกียจฝีมือที่ลูกทุ่งแบบอาม่าชุนเอง ส่วนฉันได้รองเท้าผ้าสำหรับ”ดอกบัวสวรรค์”ปักด้วยมือยิบทั้งคู่ ใส่บีบหัวเล็กน้อยด้วยเท้าเราไม่ใช่ดอกบัว แต่เพื่อความเก๋ขอสู้ตาย กับกระเป๋าสะพายแบบจีนที่ปักแน่นจนไม่เห็นเนื้อผ้า ผสมสารพัดแม่สีแปร๋แปร๋นแบบไม่เกรงใจใคร ออกงานไหนรับรองกระเป๋าฝรั่งเศสไม่มีทางเก๋เท่า ส่วนราคาไม่อยากบอกให้อิจฉา ขึ้นอยู่กับความสามารถในการต่อ(แบบภาษาใบ้) และความถูกชะตากับอาม่าคนขาย แต่ฉันได้มาด้วยหลักร้อยต้นๆเท่านั้นเอง
เสน่ห์ของเมืองเก่าต้าลี่ที่ฉันต้องใจอยู่ตรงที่วิถีชีวิตของชาวบ้าน ถึงจะดูก็รู้ว่าต้าลี่ถูก”จัดแต่ง”ให้คงความเป็นเมืองเก่าเอาไว้อวดนักท่องเที่ยว แต่หากดูดีๆชาวบ้านที่นี่ก็ยังใช้ชีวิตเป็นปกติธรรมชาติหาได้ตั้งใจอวดโชว์ หากตื่นเช้าแล้วเดินไปตามถนน Fuxing Lu ที่คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวในตอนกลางคืน จะแปลกใจที่พบว่าบรรยากาศตลาดเช้าที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้านแท้ๆเกิดขึ้นณ.ที่ถนนเดียวกัน เพียงต่างเวลา อาซ้อหลายคนเดินหาบสาแหรกหวายหน้าหลังไปจ่ายตลาด อาม่าผอมเกร็งสะพายกระบุงหวายเบ้อเริ่มบนหลังบรรจุอาหารสดที่เพิ่งซื้อมา บ้างก็มีอาม่าและอาแปะเข็นรถเข็นหรือถีบสามล้อมาด้วยกันบรรทุกผักเต็มคัน แม่บ้านบางคนหยุดคุยกันอย่างถูกคอเบาๆข้างๆร้านขายปาท่องโก๋ ถนนทั้งสายยังเงียบด้วยร้านค้าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวเมื่อสายไปแล้ว ทั้งถนนจึงมีเพียงชาวบ้านแท้ๆในชุดจีนพื้นบ้านที่ไม่ได้ใส่โชว์ หมอกจางๆลอยตัวบนยอดหลิวที่เรียงตัวเป็นแถวเลียบคลอง หลังคาและประตูจีนที่ปิดเงียบในเมืองเก่าต้าลี่ที่ซุกตัวอิงอยู่ในอ้อมโอบของภูเขาตาไซที่ยืนตระหง่านยอดคลุมด้วยหิมะขาว เป็นอารมณ์อ้อยอิ่งยามเช้าที่น่ามหัศจรรย์ ที่ฉันติดใจคือชาวบ้านหลายคนที่เดินคุยกลับมาจากตลาดด้วยกัน โดยมีไก่เป็นๆขนสีน้ำตาลเหลือบสวยนั่งเรียบร้อยอยู่หลายตัวในกระบุงสะพายหลังหรือสาแหรก มันจะรู้ตัวไหมนะว่ากำลังจะได้ขึ้นโต๊ะเป็นมื้อเอกสำหรับครอบครัว นึกถึงไก่ที่คนอเมริกันซื้อมาทำอาหาร เราเคยค่อนขอดเพื่อนอเมริกันว่าดัดจริต รู้จักแต่ไก่ฟิเลต์คือตัดแต่งเป็นชิ้นมาเสียสวย ไม่มีกระดูกไม่มีหนัง เห็นเราคนไทยซื้อไก่เป็นชิ้นติดกระดูกมาเลาะเองก็ทำหน้าเบ้ นี่ถ้ามาเห็นคนจีนซื้อไก่เป็นๆไปถอนขนเองจะร้องว่าอย่างไร
สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงและเชื่อมต่อทุกชีวิตที่ต้าลี่ไว้ด้วยกันคือลำคลองเล็กๆที่ขนานคั่นกลางระหว่างถนนและฟุตบาธทั่วเมือง คลองนี้แคบเพียงก้าวกระโดดข้าม และถูกสร้างขอบคั่นด้วยหินเป็นคันอย่างสวยงามตลอดทั้งเมือง มีสะพานโค้งเล็กๆน่ารักพาดผ่านตลอดสายให้คนเดินข้ามไปมาได้ ความลึกคลองเพียงแค่สองสามฟุต ก้นคลองเป็นก้อนหินธรรมชาติเรียงกัน บางครั้งน้ำจึงไหลผ่านเหมือนน้ำตก แลดูสวยงามและได้ยินเสียงน้ำไหลเพราะ ทำให้ต้าลี่มีชีวิตชีวาเหมือนมีน้ำตกธรรมชาติอยู่กลางเมือง ว่ากันว่าชาวต้าลี่มีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับลำคลองนี้ เพราะใช้น้ำจากคลองทำทุกอย่าง เราจึงเห็นชาวบ้านล้างผักทั้งกะละมังในคลองนี้ในใจกลางเมือง เห็นเด็กน้อยปีนลงไปวักน้ำกินและล้างมือ และเห็นอาหมวยเอาชามก๋วยเตี๋ยวที่กินเสร็จแล้วลงไปล้าง!!!
นอกจากเมืองเก่าที่มีเรื่องราวให้นั่งมองได้ไม่รู้เบื่อแล้ว สัญลักษณ์อีกอย่างของเมืองต้าลี่ฟู่แห่งอาณาจักรน่านเจ้าในอดีตที่ไม่ควรพลาดชมคือเจดีย์ซั่นถะที่เรียงตัวกันอยู่สามองค์ และมีวัดฉมซึ่นซื่ออยู่ด้านบน เจดีย์สีขาวนวลไข่ไก่นี้มีรูปทรงคล้ายหลังคาวัดญี่ปุ่น เรียงกันเป็นชั้นๆ ภายในบริเวณเจดีย์และวัดใหญ่ทีเดียว และต้องเดินขึ้นบันไดหลายขั้นเมื่อถึงด้านในสุดจะเห็นวิวเมืองต้าลี่ที่มีเขาตาไซยอดคลุมหิมะขาวเป็นพื้นหลัง และเห็นทะเลสาบเป๋อไห่ที่อยู่ฝั่งเมืองใหม่ สวยงามมาก
ต้าลี่เป็นเมืองเล็กๆน่ารักที่เที่ยวทั่วได้ไม่เหนื่อยทว่าเต็มอิ่ม ถ้ามีเวลาสองสามวันสามารถนั่งเครื่องมาจากกรุงเทพได้ เป็นทริปสั้นๆไม่ไกลที่ได้บรรยากาศเข้มข้นของวัฒนธรรมอย่างเต็มที่ น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีของชาวกรุงเทพ ถ้ามีเวลาฉันคงของอ้อยอิ่งอยู่ต่ออีกสักวันสองวัน เพียงแต่ว่าเรามีจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่กว่ารออยู่ในวันนี้
มุ่งสู่ที่ราบสูงทิเบต ปากประตูดินแดนสุดขอบฟ้า
จากต้าลี่เราจะเริ่มเดินทางไต่เขามุ่งขึ้นสู่เขตทิเบต โดยมีจุดหมายที่เมืองจงเตี้ยนหรือชื่อใหม่นามแชงกรี-ลาเป็นดังปากประตูเปิดสู่แดนสวรรค์ที่สูงสุดขอบฟ้า
เส้นทางจากต้าลี่สู่จงเตี้ยนถือเป็นโร้ดทริปที่น่าประทับใจอีกเส้นทางหนึ่ง เพราะนอกจากจะมีจุดหมายสำคัญหลายแห่งที่พลาดไม่ได้ รวมถึงเมืองลี่เจียง เมืองมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่าต้าลี่ ซึ่งเราจะเก็บไว้ย้อนกลับลงมาทีหลัง การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม บ้านเรือน การเป็นอยู่ของผู้คน และทิวทัศน์ยังค่อยๆเป็นไปอย่างน่าอัศจรรย์ชั่วเพียงขับรถวันเดียว จากชานเมืองต้าลี่ที่เราเห็นชาวบ้านทำไร่ผักเล็กๆ ลงแขกเก็บเกี่ยวกันง่ายๆริมถนน ขับผ่านเมืองเล็กและหมู่บ้านหลายแห่ง ซึ่งทำให้เห็นวิถีชีวิตชาวจีนที่เรียบง่ายในอีกแบบหนึ่ง บ้านเรือนแบบจีนที่สร้างด้วยอิฐก้อนโตเรียงกันง่ายๆไม่มีการฉาบเคลือบ ประตูไม้หนาหนักในกรอบซุ้มงอนแบบจีน ซ่อนคอร์ทยาร์ดและตัวบ้านอย่างเป็นส่วนตัวไว้เบื้องหลัง สวยแบบธรรมชาติแท้ หากน่าเสียดายที่เก่าโทรมและสกปรกเป็นส่วนมาก
ระหว่างทางมีที่สำคัญสองแห่งที่พลาดไม่ได้ ที่แรกคือหุบเหวเสือกระโจน หรือ Tiger-Leaping Gorge ซึ่งเป็นโตรกผาแม่น้ำในซอกเขาที่ลึกที่สุดในโลก ความลึกจากยอดเขาถึงแม่น้ำนั้นลึกถึงสามพันกว่าเมตรทีเดียว และเป็นจุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำแยงซีเกียง จากที่จอดรถต้องเดินไต่บันไดลงเขาชันและไกลพอควรไปที่แม่น้ำ ซึ่งจะเห็นหินก้อนใหญ่ขวางอยู่ตรงกลางแม่น้ำ ทำให้น้ำเชี่ยวที่ไหลมานั้นปะทะกระจายเป็นฝอยขาว นี่เองคือที่มาของชื่อหุบเหวเสือกระโจน ด้วยเขาว่ากันว่าสมัยก่อนเคยมีชาวบ้านเห็นเสือโคร่งตัวใหญ่มาข้ามแม่น้ำโดยกระโดดเหยียบไปบนหินก้อนใหญ่กลางแม่น้ำนั้น
หากเดินขึ้นเดินลงไม่ไหว ก็มีชาวบ้านมาบริการแบกเกี้ยวให้นั่งขึ้นลง คนแบกหน้าคนหลังคน มีที่นั่งพอดีหนึ่งตัวคนนั่ง พร้อมหลังคาหวายคลุม น่ารักดี ได้ประสบการณ์ไปอีกแบบ หากฉันนิยมเดินมากกว่าแม้จะเหนื่อยสาหัสเอาการ เพราะมีกฎส่วนตัวว่า เวลาเดินทางให้พยายามเดินออกแรงทุกครั้งที่มีโอกาส เนื่องจากไม่ได้การออกกำลังกายตามปกติ เป็นเคล็ดง่ายๆที่ไม่ให้น้ำหนักขึ้นจากการเดินทาง แต่สำหรับที่นี่ยิ่งพบว่าการเดินเองคุ้มกว่า เพราะคนแบกมีการหยุดแบกเกี้ยวพักเหนื่อยตลอดทาง คนนั่งก็ต้องนั่งจุมปุ๊กรอ หรือบางคนมีการทิ้งให้นั่งรอในเกี้ยวเฉยๆเพราะขอวิ่งลงไปช่วยเพื่อนแบกลูกค้าด้านล่างอีกรอบก่อน อย่างนี้ก็มีด้วย แต่ที่เด็ดคือระหว่างทางเดินขึ้นนั้นมีชาวบ้านทิเบตแต่งตัวคล้ายชาวเขามานั่งขายสร้อยหินสีตามทางหลายเจ้า แต่ละเจ้ามีของไม่มากและต่างไม่ซ้ำกันเลย ดูรู้ว่าไม่ใช่เหมามาขายเหมือนกันทุกเจ้าแน่นอน พวกนั่งเกี้ยวไม่มีโอกาสได้เห็นเลือกซื้อ ส่วนฉันเดินไปจอดพักซื้อไปทุกเจ้า ได้สร้อยมาหลายเส้นถูกมากๆเหลือเชื่อ มีเส้นหนึ่งเป็นหินเม็ดเป้งๆสีสันแปร๋นสุดๆร้อยเป็นพวงยาว อย่างที่เห็นเด็กชาวบ้านทิเบตใส่อยู่ที่คอเลย ตลอดทั้งทริปเห็นป้าคนนั้นขายอยู่คนเดียว ไม่เห็นมีที่ไหนอีก ทุกวันนี้ใส่สร้อยเส้นนี้ทีไรก็มีอาการตื่นตะลึงของคนให้เห็นทุกที
อีกที่สำคัญคือโค้งแรกของแม่น้ำแยงซีเกียง จุดนี้เป็นจุดที่เมื่อแม่น้ำแยงซีเกียงไหลจากเหนือมาใต้แล้วจู่ๆก็หักโค้งยูเทิร์นย้อนกลับขึ้นเหนือไป ดูจากภาพถ่ายทางอากาศเห็นเป็นโค้งเหมือนถุงก้นกลมใหญ่ชัดเจน แต่เมื่อไปดูของจริงริมฝั่งแม่น้ำจะไม่เห็นเป็นรูปโค้ง เพราะมุมมองจากระดับพื้นในระยะใกล้ทำให้เห็นความโค้งไม่ชัด ว่ากันว่า หากเมืองจีนไม่มีโค้งนี้จะลำบากทีเดียว เพราะจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้ โค้งนี้ของแยงซีเกียงได้ช่วยชะลอกระแสน้ำเชี่ยวที่ไหลลงมาอย่างมาก ด้วยความโค้งที่กว้างมากและไหลหักกลับถึง 180 องศา
ถึงแม้จุดชมวิวที่โค้งแรกแยงซีเกียงจะไม่ได้สวยมากมาย ตรงหมู่บ้านเล็กๆชื่อหมู่บ้านสือกู่ที่เราจอดรถเพื่อเดินไปชมโค้งนั้นกลับมีตลาดนัดริมทางที่น่าสนใจมาก ชาวบ้านต่างมาตั้งโต๊ะขายของกัน เป็นพวกของเก่าชิ้นเล็กชิ้นน้อยและงานฝีมือประเภทโอทอป ราคาถูกมากและหากตาดีจะได้ของดีๆไม่น่าเชื่อกลับไป เห็นแล้วนึกถึงพวกเปิดร้านขายของเก่างานฝีมือท้องถิ่น หากมาเห็นคงขนกลับไปไม่หวาดไม่ไหว
จากถนนราบเราค่อยๆเริ่มขับขึ้นที่ราบสูงทีละน้อย และไต่โค้งของเขาขึ้นมาจนเริ่มเห็นภูเขาที่ยอดคลุมด้วยหิมะ ถนนเป็นทางราดยางสวนกันคนละเลน แม้ไม่ใช่ถนนหินที่แล่นได้ช้าอย่างเก่า แต่ก็ทำเวลาได้ลำบากเช่นกัน เพราะเราต้องพยายามรักษาขบวนยาวสองกิโลให้ไม่ขาดตอน ในขณะที่มีรถสวนมาตามโค้งเขาตลอดเวลา ดีที่เราได้ฝึกระบบการสื่อสารด้วยวิทยุกันจนทุกคนเข้าที่รู้ใจกันแล้ว ทำให้นักขับทั้งหลายสนุกและเพลินไปอีกแบบ จนกว่าจะรู้ตัว บ้านทรงจีนกำแพงอิฐก็ได้กลายเป็นบ้านปูนเหลี่ยมทรงทิเบต หน้าต่างแคบเล็ก หลังคาเรียบไม่โค้งงอน มีธงสีประดับไปเรียบร้อยแล้ว และในทุ่งรอบๆบ้านแต่ละหลังที่มีราวตากข้าวบาร์เล่ย์กระจายอยู่ทั่วไป พร้อมกับเจดีย์ขาวที่มีธงสีร้อยเป็นสายพาดผ่านที่มีให้เห็นมากมายนั้น ก็ทำให้รู้ว่า เราได้มาถึงที่ราบสูงแห่งทิเบตแล้วจริงๆ
ส่วนทิวทัศน์ก็สมกับที่เรียกว่าที่ราบสูงเหลือเกิน เพราะเป็นที่ราบโล่งบนเนินน้อยๆ ทุ่งหญ้าแห้งสีน้ำตาลไหม้ไกลสุดสายตา หากอยู่สูงเสียดฟ้าด้วยความสูงสามพันกว่าเมตรเหนือระดับน้ำทะเล นี่คือที่ราบสูงเต๋อชิงแห่งทิเบต เทือกเขาใหญ่ตระการสุดปลายฟ้าที่โอบกอดทุ่งหญ้าไว้มียอดขาวโพลนปกคลุมยอด ประหนึ่งขวางกั้นปกป้องดินแดนแห่งทิเบตไว้จากโลกภายนอก เราได้เห็นจามรีตัวแรก ขนยาวดำเป็นมัน เขาหนาป้อมสองข้างโค้งเข้าหากัน ยืนอยู่ในทุ่งหญ้าของบ้านหลังหนึ่ง นี่เองตัวเป็นๆของวัวขนยาวของทิเบต ที่ขนของมันมีค่าสูงนัก ไม่นับเนื้อที่ราคาแพงเช่นกัน ระหว่างทางเราผ่านร้านขายเนื้อจามรีหลายร้าน มีขนหางของมันมัดเป็นพู่แขวนขายอยู่เป็นแผงสารพัดสี ทั้งดำ น้ำตาลและขาวบริสุทธิ์ ในร้านเจ้าของร้านกำลังนั่งแล่เนื้อจามรีที่คงเพิ่งล้มอยู่ ซี่โครงยังอาบเลือดแดง ทุกอย่างขายหมดทุกส่วนอวัยวะ และหัวกะโหลกที่เรียงอยู่เต็ม แต่ฉันก็ต้องเดินจากมาโดยไม่ได้ซื้ออะไร เมื่อหันไปสบกับตาดวงโตที่ยังใสแจ๋วของหัวกะโหลกเจ้าจามรีตัวนั้นที่กองอยู่บนพื้น
แชงกรี-ลา ดินแดนสวรรค์สุดขอบฟ้า
เราจะพักที่จงเตี้ยน (Zhongdian) หนึ่งคืน เพื่อเตรียมตัวและเตรียมพร้อมร่างกายก่อนจะออกเดินทางไต่ภูเขาหิมะไป่หมางขึ้นสู่เมืองเต๋อชิงซึ่งสูง 3,350 เมตรจากระดับน้ำทะเล จงเตี้ยนเหมือนเป็นเมืองหน้าด่านปากทางตีนเขาขึ้นสู่สวรรค์ ที่จงเตี้ยนนี้ก็สูงจากกระดับน้ำทะเลและออกซิเจนเริ่มเบาบางจนบางคนเริ่มปวดหัวแล้ว อากาศก็เริ่มเย็นลงมากจนต้องเปิดฮีทเตอร์นอน ต่างคนต่างซื้ออุปกรณ์กันหนาวเพิ่มเติม เราได้รับแจกหมอนบรรจุออกซิเจนคนละใบเพื่อพกไว้ใช้ในอีกสองวันข้างหน้าหากปวดหัวจากอากาศที่บางลง ตึกรามที่จงเตี้ยนนั้นเห็นได้ชัดว่าเพิ่งสร้างขึ้นใหม่อย่างจงใจที่จะเปิดรับการท่องเที่ยวหลังจากประกาศเปลี่ยนชื่อเป็นแชงกรี-ลา หากทุกอย่างยังดูแห้งแล้งไร้ชีวิตชีวาและไม่มีอะไรน่าสนใจเลย ทุกคนจึงมุ่งแต่การเตรียมตัวและรถราให้พร้อม และตื่นเต้นกับการที่จะได้ตื่นแต่เช้าเพื่อก้าวย่างเข้าสู่เขตแดนสวรรค์อย่างแท้จริงของทิเบต
หากการก้าวออกจากจงเตี้ยนมุ่งสู่เทือกเขาหิมะไป่หมางเป็นเสมือนก้าวย่างสู่สวรรค์ จุดแรกระหว่างทางที่เราจอดแวะจึงดูจะไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะเหมาะสมไปกว่าวัดลามะจงส้านหลิน (Songzanlin Lamasery) หรือที่รู้จักกันดีในนาม”วังโปตาลาน้อย” ด้วยคล้ายพระราชวังโปตาลาที่เมืองหลวงลาซาของทิเบต วัดนี้เป็นวัดทิเบตที่ใหญ่และมีความสำคัญที่สุดในยูนนาน สร้างขึ้นเมื่อปี 1679 ในสมัยราชวงศ์ชิงก็มีอายุกว่า 300 ปี ตัววัดแบ่งเป็นแปดส่วนดังสัญลักษณ์ของบัวแปดกลีบ ส่วนที่เป็นห้องสวดมนต์กับกุฏินั้นอยู่ด้านบนสุดของวัด เราเดินไต่ขึ้นบันไดชันขึ้นไป ด้านบนเป็นลานกว้าง มองลงมาเห็นวิวสุดสายตาของหมู่บ้านด้านล่างและเทือกเขาสีน้ำตาลยาวตระหง่านกั้นอยู่ที่ขอบฟ้า ดังกำแพงกั้นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์แห่งสรวงสวรรค์ไว้จากโลกภายนอก สุดลานคือตึกส่วนที่เป็นห้องสวดมนต์รวมคล้ายอุโบสถ ด้านหน้ามีม่านหนาหนักผืนใหญ่ทอจากขนจามรีสีดำลายขาวทิ้งตัวสูงลงมาสามชั้นปิดประตูทางเข้า เมื่อแหวกสู่ด้านในจะพบส่วนหน้าก่อนเข้าห้องสวด ซึ่งทาสีแดงจ้ามีจิตรกรรมฝาผนังลวดลายสีสดประมาณโรงงิ้ว เมื่อก้าวนำด้วยเท้าซ้ายเข้าก่อนสู่ด้านใน จะพบห้องสวดมนต์ที่มีที่นั่งเป็นแถวยาวตามขวางหลายแถว จุพระลามะได้ถึง 1600 รูปทีเดียว นึกถึงบรรยากาศที่ลามะเต็มห้องสวดพร้อมกันในวัดที่เก่าแก่ 300 กว่าปี และของทุกอย่างในห้องนั้นก็ดูท่าจะเก่าพอกันด้วย บรรยากาศสลัว คงจะขลังทีเดียว แต่ที่เราเห็นวันนั้นมีเพียงเณรองค์เล็กที่ก้มหน้าก้มตาท่องบทสวดมนต์เสียงดังเป็นภาษาทิเบตอยู่ในห้องติดกัน มีกองไฟจุดให้ความอบอุ่นอยู่ข้างเตียงนอน เป็นภาพชวนขลังและศรัทธาที่ดึงดูดให้แอบยืนมองอยู่นาน หากพอคนเริ่มมามุงดูมากเข้า เณรเลยพาลหันมาตะโกนพร้อมกับโบกมือไล่เสียงดังลั่นด้วยเสียสมาธิ
อีกภาพที่ฉันประทับใจคือท่ากราบพระของชาวทิเบต ฉันยืนดูชาวบ้านที่มาไหว้พระทำบุญ เมื่อก้าวเข้ามาถึงด้านในห้องสวด ตรงด้านหน้าจะมีผ้าปูอยู่หน้าแท่นปักธูปซึ่งตรงกับองค์พระด้านใน เขาจะยืนยกมือไหว้แล้วทรุดตัวลงกราบโดยคุกเข่าแล้วไถลตัวค้อมก้มลงเอาหน้าราบแบมือเหยียดยาวไปกับพื้น แล้วลุกขึ้นมายืนใหม่เพื่อกราบให้ครบสามครั้ง นี่คือการกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ คือกราบโดยให้อวัยวะในร่างกาย 8 ส่วนสัมผัสพื้น ฉันว่าเป็นการกราบที่แสดงออกถึงศรัทธาได้อย่างน่าชื่นชม เพราะต้องตั้งใจไปทั้งตัวจริงๆ
อีกวัดที่เราแวะคือวัดลามะตงจวู๋หลิน (Dongzhulin Lamasery) เล็กกว่าวัดจงส้านหลินแต่เก่ากว่า สร้างเมื่อปี 1574 อยู่บนเส้นทางการค้าใบชาโบราณที่เมืองปันจือหลาน (Bengzilan) ในอ้อมกอดของภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวทิเบต ที่วัดนี้เราเห็นพระลามะในจีวรสีแดงอมชมพูสดหลายรูปตั้งแต่ปากทางเข้าวัดเรื่อยไป ตอนที่เดินจากที่จอดรถผ่านกุฏิเข้าไปก่อนถึงวัด ฉันเห็นพระโผล่ออกมามองไปนอกหน้าต่างเล็กแคบแบบทิเบต เหมือนภาพที่เคยเห็นชินตาในแนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกหรือหนังสือท่องเที่ยว แต่พอมาเห็นเองมันได้ความรู้สึกบอกไม่ถูก เป็นภาพที่ตั้งคำถามได้มากมาย ด้วยความน่าสนใจในความเป็นไปอันเรียบง่ายราวกับเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ของโลกและสังคมที่ต่างจากที่เราอยู่อย่างสิ้นเชิง
จากวัดเราเริ่มการขับไต่เขาอย่างจริงจัง เส้นทางขับลัดเลาะเทือกเขาไป่หมางนี้ถือเป็นสุดยอดของโร้ดทริปสู่แชงกรี-ลา ถนนเป็นทางเลียบโค้งไต่เกาะไปตามเขาสูงขึ้นเรื่อยๆ ทางแคบเลนเดียวถึงจะโค้งไปโค้งมาตลอดเวลาแต่พื้นถนนนับว่าดีใช้ได้และขับไม่ยากมาก เราวิทยุถามความสูงกันตลอดจากรถคันที่มี GPS ขับไต่ความสูงขึ้นๆจนเริ่มเห็นภูเขาสูงมีหิมะปกคลุมยอดล้อมรอบ บรรยากาศเริ่มสลัวอึมครึมด้วยสีเข้มขรึมของเขาหินโล้นที่ไร้ต้นไม้ พอเลี้ยวโค้งฉันมองลงไปในหุบเขา ข้างล่างก็ลึกมาก ข้างบนก็สูงใหญ่ตระการเสียดฟ้า รู้สึกว่าตัวเราช่างเล็กนิดเดียว มีอยู่ช่วงหนึ่งท่ามกลางถนนและภูเขาที่แห้งเป็นสีน้ำตาลกลับมีดอกเหมยบานเต็มต้นสีชมพูอ่อนเรียงรายอยู่ที่ขอบเขาเป็นแถวราวกับรอต้อนรับเรา และกลีบที่ลมพัดร่วงลงก็เสมือนมีนางฟ้าโปรยกลีบดอกไม้ลาดบนทางเดินให้เราก้าวเหยียบเข้าสู่เขตสวรรค์
เมื่อรู้ตัวอีกที่หิมะที่เห็นอยู่ไกลๆบนยอดเขาก็มากขึ้นและใกล้เข้าจนมาขาวโพลนถึงขอบข้างถนนแล้ว ถนนราดยางกลายเป็นถนนหินก้อนโตที่ไม่มีไหล่ทาง ฝนปนหิมะเริ่มโปรยลงมา รอบตัวกลายเป็นหมอกขาว จนในที่สุดทั้งขอบทาง ภูเขา และพื้นถนนก็มีแต่หิมะปกคลุมขาวโพลนเต็มไปหมด บ้านหลังเล็กข้างทางถูกฝังในหิมะเห็นแต่หลังคาโผล่ขึ้นมา เราจอดรถกันที่ความสูง 4,000 เมตร แล้วสโนว์ไฟท์ก็เริ่มขึ้น ทุกคนต่างปาหิมะใส่กันอย่างสนุกสนานตรงกลางถนนนั่นเอง
ณ จุดหนึ่งเราเห็นราวธงสามเหลี่ยมหลากสีตัดกับสีขาวโพลนของหิมะพาดผ่านหลายสายอันเป็นสัญลักษณ์ของการบูชาของชาวทิเบต แลดูเหมือนว่าบนสวรรค์อันบริสุทธิ์นี้ สิ่งเดียวที่อนุญาตให้มิใช่สีขาวคือสีสันแห่งศรัทธา และณ ตรงนั้น เรารู้ว่า เราได้มาถึงแล้วที่แชงกรี-ลา แดนสวรรค์สุดขอบฟ้าที่หลายคนใฝ่จะมาเยือนให้เห็นกับตา และหลายคนแสวงหาว่ามีจริงหรือไม่
เรามาถึงเมืองเต๋อชิง เมืองที่ตั้งอยู่สูงที่สุดในมลรัฐยูนนานในยามที่แสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ลาลับพอดี ท่ามกลางความสลัวด้วยอุณหภูมิติดลบ เมืองเล็กเงียบเชียบที่ซุกตัวอยู่ในปราการหุบเขาอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวทิเบตนี้ จึงเหมือนเมืองที่ถูกซ่อนเก็บไว้เป็นความลับของแชงกรี-ลา
ด้วยความยากลำบากที่จะมาถึง เต๋อชิงจึงเป็นเมืองเล็กที่ยังห่างไกลความเจริญมาก แม้ในไม่ช้าเชื่อได้ว่าจีนคงเปิดเต๋อชิงให้เป็นเมืองท่องเที่ยวใหญ่แน่ ในวันนี้เต๋อชิงจึงยังไม่มีโรงแรมหรูหรือความตระการตาล่อใจนักท่องเที่ยว ในเมืองที่ดูเหมือนหมู่บ้านเล็กๆในหุบเขานี้ ที่พักที่ดีที่สุดคือโฮลี่ทิเบตโฮเต็ลหรือโรงแรมคาวาเก๋อเป๋อ ฉันไต่บันไดแบกกระเป๋าขึ้นไปห้องพักชั้นสามพลางนึกในใจว่าทำไมต้องโชคร้ายได้ห้องชั้นบนสุดด้วย เข้าห้องไปเจอห้องหัวมุมที่มีม่านจีบย้วยล้อมหน้าต่างยาวจรดสองฝากำแพง อาบน้ำที่ร้อนบ้างเย็นบ้างสลับกันไปที่อุณหภูมิลบสาม หากเตียงสะอาดที่ปูทับด้วยผ้านวมหนานุ่มสองชั้นก็ทำให้หลับสบายได้ถึงเช้า ตื่นขึ้นมาแดดยังไม่พ้นยอดเขาดี ฉันรูดม่านเปิดกว้างออกทั้งสองฝาแล้วก็ต้องตื่นตะลึง ภูเขายอดขาวด้วยหิมะสองลูกตั้งตระการอยู่ตรงหน้าราวกับจะเอื้อมมือไปจับได้ บ้านเรือนชาวบ้านที่อยู่ต่ำลงไปเริ่มเห็นควันไฟพุ่งออกมา หมอกเป็นสายลอยอ้อยอิ่งอยู่ข้างหน้าพอดี คั่นกลางระหว่างหมู่บ้างด้านล่างและยอดเขาด้านบน นี่เอง A room with a view ของจริง หน้าต่างกระจกยาวจากกำแพงจรดกำแพงสองด้านของห้อง 309 มอบเต๋อชิงทั้งเมืองให้ฉัน และตอนนี้เองที่ฉันรู้ว่า สวรรค์มีจริง
ตามรายการจุดหมายสุดท้ายของแชงกรี-ลาคือภูเขาหิมะเหมยลี่ ซึ่งเราจะขับรถเข้าไปที่หมู่บ้านหมิงหย่งอันเป็นหมู่บ้านทิเบตโบราณ และจะขี่ม้าไต่เขาขึ้นไปชมธารน้ำแข็งกัน และยังจะไปเยี่ยมชมวัดเทียนจื่อหรือไถ้จวื่อที่สร้างขึ้นบูชาภูเขาเหมยลี่ หากเช้านี้หิมะตกหนักมากต่อเนื่องมาทั้งคืน เมื่อคณะปรึกษากันแล้วจึงตัดสินใจล้มเลิกไม่ไปทั้งหมด ด้วยเส้นทางที่จะไปซึ่งรถสวนกันแทบไม่ได้นั้นตอนนี้ปกคลุมด้วยหิมะหนามากจนอันตรายเกินไปแม้รถเราทุกคันจะขับเคลื่อนสี่ล้อก็ตาม
เราตัดสินใจขับรถกลับจงเตี้ยน ดูจากสภาพอากาศและถนนที่ขาวโพลนไปด้วยหิมะแล้ว เราคงต้องขับอย่างระมัดระวังและใช้เวลานานกว่าขามาแน่นอน บนเส้นทางไต่เขาไป่หมางขากลับนั้น เราจะจอดชมเทือกเขาเหมยลี่อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาเหมยลี่ถือเป็นดังเมกกะของชาวทิเบต ที่หนึ่งครั้งในชีวิตจะต้องเดินทางมาบูชา เหมยลี่มียอดเขา 13 ยอด เรียกว่าไถ้จวื่อซาน ที่แปลว่ายอดเขารัชทายาทหรือโอรสสวรรค์ ยอดที่สูงที่สุดซึ่งสูงสุดในยูนนานด้วย ถือเป็นพ่อคือกาวาการ์โป (Kawa Karpo) สูงถึง 6,740 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยอดที่สูงรองลงมาเป็นแม่ชื่อเหมียนฉู่มู่ อีกสิบเอ็ดยอดที่เหลือเป็นลูก ยอดกาวาการ์โปนี้เองที่มีลักษณะเป็นรูปปิระมิดดังที่เจมส์ ฮิลตันได้บรรยายแชงกรี-ลาเอาไว้ เป็นหลักฐานว่าตี๋ชิงคือแชงกรี-ลานอกเหนือไปจากแม่น้ำสามสายที่ไหลผ่านคือ แยงซีเกียง (จินซาเจียง) โขง(หลันชางเจียง) และสาละวิน (นู่เจียง) และหลักฐานที่ว่าในภาษาตี๋ชิงเท่านั้นที่มีคำที่ออกเสียงใกล้เคียงแชงกรี-ลาว่า “เซียงเก๋อหลี่ลา” ที่แปลว่าสถานที่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ประทับอยู่ในดวงใจ
เมื่อเรามาถึงลานบูชายอดเขาโอรสสวรรค์ซึ่งมีเจดีย์สีขาวอยู่ 13 องค์ตามจำนวนยอดเขาเหมยลี่นั้น หิมะตกหนักขึ้นและหมอกลงจัดมาก ฉันเดินไปไหว้เจดีย์ที่เรียงกันอยู่ ยืนอยู่ดีๆเจดีย์ที่เห็นเรียงกันเป็นแถวยาวนั้น เพียงกระพริบตาหมอกก็พัดมาขวางหน้ากระทั่งเห็นได้ไกลเพียงปลายมือเท่านั้น หากก็มิอาจหยุดศรัทธาหญิงชราชาวทิเบตที่กระย่องกระแย่งเผาใบไม้ในฐานเจดีย์เพื่อบูชาสักการะกาวาการ์โป และเดินไปไล่หมุนกงล้อทองเหลืองที่เรียงกันอยู่ พร้อมสวดภาวนา “โอมมณีปัทเมหุม” ด้วยศรัทธาที่หมอกหิมะใดก็มิอาจทัดทาน
ฉันนิ่งอยู่ตรงนั้นครู่หนึ่ง นอกจากจะไม่ได้ไปหมู่บ้านหมิงหย่งและธารน้ำแข็งแล้ว ที่สำคัญอากาศยังไม่เป็นใจให้เห็นสุดยอดความงามของแชงกรี-ลาคือยอดกาวาการ์โปอีกด้วยแม้จะยืนอยู่ตรงหน้าจุดบูชานี้แล้ว สมกับที่ชาวทิเบตเชื่อว่ากาวาการ์โปเลือกที่จะเผยหรือไม่เผยตัว หากด้วยสถิติแล้ว ในเดือนเมษายนที่ฉันไปนี้ โอกาสเห็นยอดกาวาการ์โปมีเพียง 10% ในเดือนพฤษภาคมถึงกลางมิถุนายนมีโอกาส 25% และจะได้เห็นดอกกุหลาบพันปีหรือ Rododendron บานด้วย หากช่วงเวลาที่มีโอกาสเห็นมากสุดคือกลางเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน
ไม่เป็นไร ถึงอย่างไรฉันก็ดั้นด้นมาถึงแชงกรี-ลาแล้ว และยอดกาวาการ์โปก็อยู่ตรงหน้าฉันนี่เองแม้จะซ่อนตัวอยู่หลังทะเลหมอกที่บังขุนเขาตระหง่านที่ยิ่งใหญ่ไว้จนมิด ด้วยศรัทธาเฉกเช่นที่หญิงชราชาวทิเบตผู้นั้นมี ฉันก็บรรลุเป้าหมายแห่งการเดินทางแล้วเช่นกัน แปลกดีที่แม้แชงกรี-ลาจะเป็นเป้าหมายแห่งการเดินทางที่ฉันได้พิชิตแล้ว ก็ยังมีส่วนหนึ่งของที่นี่ที่ยังคงเป็นความลับไว้ อาจจะเป็นความตั้งใจของกาวาการ์โปกระมัง ที่จะให้แชงกรี-ลาเป็นดินแดนแห่งปริศนาแก่ฉันตลอดไป
แม้ตอนแรกฉันจะคิดว่าการที่ไม่ได้เห็นเทือกเขาโอรสสวรรค์เป็นการพลาดสุดยอดแห่งแชงกรี-ลา ฉันก็ผิดไปแล้วอย่างจัง เพราะเส้นทางไต่ขอบฟ้าเทือกเขาไป่หมางขาลงจากเต๋อชิงมาจงเตี้ยนในวันนั้นต่างหาก คือประสบการณ์แห่งชีวิตที่ถือว่าเป็นสุดยอดของโร้ดทริปนี้จริงๆ เส้นทางเดิมที่เราขับขึ้นไปวันก่อนนั้น เหมือนเป็นอีกเส้นทางเมื่อปกคลุมไปด้วยหิมะหนาที่ตกลงมาร่วมเมตรในกลางคืน ถนนหินที่แคบและไม่มีไหล่ทางอยู่แล้วนั้น เมื่อปกคลุมด้วยหิมะจนขาวโพลนยิ่งไม่มีทางรู้ได้เลยว่าขอบถนนอยู่ตรงไหน แม้รถพวกเราจะขับบนหิมะได้สบายอยู่แล้ว แต่บางคนก็ไม่เคยขับรถในหิมะมาก่อน แม้จะคลานตามกันประมาณ 10 ก.ม.ต่อชั่วโมง ก็ยังไม่วายมีเรื่องหวาดเสียว เมื่อรถคันหนึ่งลื่นปัดไปอยู่ที่ขอบเหว ต้องไปช่วยแก้สถานการณ์กันจึงหลุดมาได้ และที่น่าหวาดเสียวที่สุดคือเวลามีรถสวนมากันเป็นขบวนยาว ตำรวจที่นำขบวนเราต้องลงไปกรุยทางและจัดคิวให้สวนกัน แต่ละครั้งใช้เวลานานมากเพราะบางทีรถที่สวนมาก็เป็นรถบรรทุกหรือรถทัวร์คันโตๆ รถเราอยู่ท้ายขบวนไม่เห็นว่าข้างหน้าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ได้แต่รับแจ้งทางวิทยุ จอดแต่ละครั้งนานขนาดที่ลงไปเล่นปาหิมะกันได้เป็นเรื่องเป็นราว หรือบางคนก็จัดการหาอะไรกินกันได้เป็นมื้อ แต่ก็ดับเครื่องรถไม่ได้เพราะอาจสตาร์ทไม่ติด หิมะตกลงมาไม่หยุด ไม่มีอาหารไม่มีคลื่นโทรศัพท์ มีแต่เหวกับหิมะ และเวลาก็ผ่านไปเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าว่าเราจะหลุดลงมาข้างล่างได้เลย เหมือนติดในพายุหิมะแบบในหนังไม่มีผิด ตอนนั้นฉันไม่ได้กลัวอะไรเลย เพราะเคยชินและรู้ฝีมือขับรถในหิมะของคนขับมือหนึ่ง แถมยังอุ่นสบายในรถที่มีฮีทเตอร์แม้กระทั่งที่เบาะนั่ง มารู้ทีหลังว่าคนในรถคันอื่นหลายคันสวดมนต์กันแทบแย่
สรุปแล้วระยะทางเพียง 90 ก.ม. เราใช้เวลาเดินทางในวันนั้นถึง 9 ชั่วโมง กว่าจะถึงจงเตี้ยนเราก็ใช้เวลาไปร่วม 14 ชั่วโมง นับว่าเราใช้เวลาดื่มด่ำความงามของแชงกรี-ลาได้คุ้มจริงๆ
แม้จะต้องล่ำลาแชงกรี-ลากันที่จงเตี้ยน ความสนุกของโร้ดทริปนี้ยังไม่หมด เพราะจุดหมายต่อไปของเราคือเมืองลี่เจียง อีกหนึ่งเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม หากว่าต้าลี่น่าประทับใจแล้ว ลี่เจียงยิ่งน่าประทับใจกว่าไม่รู้กี่เท่า เราอยู่ที่ลี่เจียงกันสองวันสองคืน ในเมืองเก่าใช้เวลาดื่มด่ำได้ไม่รู้เบื่อ เพราะเต็มไปด้วยเสน่ห์ของวัฒนธรรมที่เฉพาะตัวมากมาย คงต้องเก็บไว้เล่าต่างหาก แต่ถ้าจะให้พูดสั้นๆ ลองนึกถึงเมืองที่จอมยุทธบู๊ลิ้มมาชุมนุมกันเมื่อ 800 ปีก่อน หากภาพที่นึกในใจเป็นอย่างไร ลี่เจียงในวันนี้คือภาพนั้นเลย จะขาดอยู่ก็แต่จอมยุทธที่ฟันดาบกันแล้วกระโดดตัวเบาไปตามหลังคาที่ซ้อนๆกันอยู่เท่านั้นเอง
ที่ลี่เจียงเราได้ขึ้นกระเช้าขึ้นไปบนยอดเขาหิมะมังกรหยกซึ่งสูงร่วม 6,000 เมตร บนยอดเขาเป็นลานหิมะซึ่งไม่มีใครตื่นเต้นกันแล้วหลังจากติดอยู่บนไป่หมางทั้งวัน จากลี่เจียงเป็นเส้นทางกลับบ้านซึ่งเราไม่ได้ขับย้อนทางเดิม แต่จะขับขึ้นไฮเวย์เข้าพักหนึ่งคืนที่คุนหมิง บางคนช้อปปิ้งแต่ฉันไม่ประทับใจเลยกับเมืองใหม่ไร้ชีวิตและรถติดขนาดนั้นหลังจากประทับใจไม่รู้ลืมมาแล้วจากต้าลี่ ลี่เจียง และแชงกรี-ลา จากนั้นเส้นทางที่เราขับรถต่อคือขึ้นไฮเวย์จากคุนหมิงเข้ามาเชียงรุ้ง หากไม่นับถนนในประเทศไทย ทางช่วงนี้คงเป็นทางที่ขับสบายที่สุดแล้ว และมีอุโมงค์ยาวๆตลอดสาย ที่ยาวที่สุดคือสามก.ม. กว่าๆ เราได้ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเอ๋อซานที่เป็นสะพานตอม่อปูนที่สูงที่สุดในโลกด้วย ชื่อสะพานหงเหอ
จากเชียงรุ้งเป็นการขับทับเส้นทางเดิม คือมุ่งสู่เมืองล่า ผ่านด่านโมฮังข้ามชายแดนจีนเข้าลาวที่ด่านบ่อเต็น ระหว่างทางเราได้เห็นสาวๆคนไตแต่งตัวสวยงามเกล้าผมกางจ้องออกมาฉลองงานสงกรานต์กันทุกหมู่บ้าน คืนสุดท้ายเราพักที่เมืองหลวงน้ำทา พอเช้าก็ลุยทางที่วิบากที่สุดอย่างขามาคือ 180 ก.ม. 6 ชั่วโมงกับถนนก่อสร้างที่ได้เล่นออฟโร้ดกันอย่างเต็มที่อีกครั้งก่อนกลับบ้าน ถึงชายแดนข้ามเข้าประเทศไทยสู่เชียงของแล้วตีรถเข้ากรุงเทพ ทันทีที่รถเราแตะถนนประเทศไทย เราพูดพร้อมกันโดยไม่นัดหมายว่า บ้านเราเจริญจังเลย แม้แต่ถนนในอำเภอเล็กๆชายแดนยังดีเลย เราจอดกินข้าวร้านเล็กๆข้างถนนโดยไม่ต้องกังวลเลยว่าจะท้องเสียหรือเปล่า และขอเข้าห้องน้ำโดยไม่กลัวเลยว่าจะไม่สะอาด ฉันบอกตัวเองว่า “You have to travel far to discover what’s near.”ตลอดทางเชียงราย-กรุงเทพ ฉันนั่งทบทวนถึงประสบการณ์โร้ดทริปครั้งนี้ที่หลายอย่างเป็นครั้งแรกที่แตกต่าง ถึงแชงกรี-ลาในฝัน ดินแดนที่หลายคนไม่เคยคิดจะไป หรือคิดไม่ออกว่าจะไปอย่างไร หรือไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ แต่เราได้ไปมาแล้วอย่างเต็มอิ่ม และได้ไปในรูปแบบที่ไม่น่าเชื่ออีกด้วย 5,500 กิโลเมตรด้วยรถของเราจากบ้านของเราเองในกรุงเทพ จากถนนที่ดีที่สุดของประเทศไทย ลุยโคลน หลุม บ่อ ขับข้ามลำธารน้ำ ลุยฝุ่นบนทางก่อสร้างในลาว ผ่านถนนปูด้วยหินโบราณ ทางที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อในจีน กระทั่งสุดยอดลุยหิมะบนถนนไต่ขอบฟ้าที่เทือกเขาไป่หมาง เราไปมาแล้ว แชงกรี-ลาแห่งทิเบตแดนสวรรค์สุดขอบฟ้า แล้วจะให้ใครเชื่อง่ายๆได้อย่างไร
ถึงได้บอกไปก็ไม่เชื่อ Unbelievable Road Trip จริงๆ
Itinerary
เส้นทางโร้ดทริปอันเหลื่อเชื่อ 13 วัน กรุงเทพ-แชงกรี-ลา ระยะทาง 5,600 ก.ม. และเวลาการเดินทาง
วันที่ 1 กรุงเทพ-เชียงของ 850 ก.ม. (ซุปเปอร์ไฮเวย์มีเกาะกลางจากกรุงเทพจนถึงพะเยาจึงแยกเข้าทางลาดยางสภาพดี)
วันที่ 2 ชายแดนเชียงของ-ห้วยซาย ประเทศลาว-หลวงน้ำทา-ด่านบ่อเต็น-ด่านโมฮังประเทศจีน-เชียงรุ้ง 450 ก.ม. (ถนนทางดินแดงฝุ่นจัดเพราะเป็นเส้นทางก่อสร้างถนน มีหลุมบ่อโคลนและลุยข้ามลำธาร ผ่านหมู่บ้านชนบทกันดารของลาว ในจีนถนนดีขึ้นเป็นลาดยางแต่ยังเล็กแคบ ลัดเลาะผ่านหมู่บ้านชนบท)
วันที่ 3 เชียงรุ้ง-หลินซาง 450 ก.ม. (ถนนเลนเดียวปูด้วยหินโบราณลัดเลาะไปตามเขาและผ่านหมู่บ้านเล็กๆในชนบทจีน)
วันที่ 4 หลินซาง-ต้าลี่ 380 ก.ม. (ถนนลาดยางมีหลุมบ่อเป็นช่วงๆเลาะไปตามเขาเลียบแม่น้ำโขงและใช้ทางด่วนบางระยะ)
วันที่ 5 ต้าลี่–หุบเหวเสือกระโจน-โค้งแรกแยงซีเกียง-จงเตี้ยน 350 ก.ม. (ถนนลาดยางเล็กๆและไต่เขาขึ้นที่ราบสูงเลาะไปตามภูเขา)
วันที่ 6 จงเตี้ยน-ไต่ภูเขาหิมะไป่หมาง-เต๋อชิง 190 ก.ม. (ถนนปูด้วยหินแคบและคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาสูงชัน ไม่มีขอบถนน มีหิมะตามขอบถนน หากหิมะตกหนักอาจปกคลุมด้วยหิมะหนามิดจนไม่เห็นทางได้)
วันที่ 7 เต๋อชิง-เทือกเขาโอรสสวรรค์-จงเตี้ยน 190 ก.ม.
วันที่ 8 จงเตี้ยน-ลี่เจียง 200 ก.ม. (ถนนลาดยางขับไม่ยาก)
วันที่ 9 ลี่เจียง-ภูเขาหิมะมังกรหยก-ลี่เจียง 80 ก.ม.
วันที่ 10 ลี่เจียง-คุนหมิง 500 ก.ม. (ถนนใหญ่และไฮเวย์)
วันที่ 11 คุนหมิง-เชียงรุ้ง 650 ก.ม. (ถนนไฮเวย์คอนกรีต)
วันที่ 12 เชียงรุ้ง-เมืองล่า-ด่านบ่อเต็น-หลวงน้ำทา 260 ก.ม. (เส้นทางเดียวกับขามา)
วันที่ 13 หลวงน้ำทา-ห้วยซาย-เชียงของ-เชียงราย-กรุงเทพ 1,040 ก.ม. (เส้นทางเดียวกับขามา)
ข้อมูลเกี่ยวกับรถ
– รถควรเป็นขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น
– ค่าน้ำมัน รถของเราดีเซลขนาด 2,500 ซีซี ใช้ 600 ลิตร ประมาณ 15,000 บาท รถเบนซินแล้วแต่สภาพรถและรุ่น ในขบวนเรามีตั้งแต่ 15,000 ถึง 30,000 บาท
– ก่อนไปควรเตรียมรถให้พร้อม ตรวจเช็คยางและสภาพรถโดยรวม ดูว่ายางอะไหล่และแม่แรงสามารถใช้งานได้จริง – สิ่งที่ควรพกติดไปคือ ไส้กรองน้ำมันเครื่องและเชื้อเพลิง ไส้กรองอากาศ เพราะฝุ่นในลาวเยอะมาก สายพานเครื่องยนต์น้ำมันเครื่องและน้ำมันเบรกสำรอง น้ำในหม้อน้ำควรเป็นน้ำยาหม้อน้ำไม่ใช่น้ำเปล่าเฉยๆเนื่องจากอากาศหนาว
– ระหว่างทางเมื่อเห็นปั๊มให้เติมน้ำมันให้เต็มเสมอแม้ยังไม่หมดถัง
– การแพ็คของเข้าท้านรถควรจัดให้เป็นระเบียบหยิบออกง่าย โดยเฉพาะยางอะไหล่เพราะอาจต้องจอดหยิบของระหว่างทางที่เล็กแคบหรืออยู่บนไหล่เขา
ที่พัก
เมืองต้าลี่ โรงแรมลานหลิงเก๋อ หรือ Landscape Hotel 96 Yuer Road, The Old City of Dali, 86-0872-2666188
เมืองจงเตี้ยน โรงแรมหลงฟุ้งเสียงหรือ Holy Palace Hotel ดีที่สุดในเมือง 86-0887-8229788
เมืองเต๋อชิง โรงแรมคาวาเก๋อเป๋อ ดีที่สุดในเมืองและวิวสวยที่สุดอย่างกับสวรรค์ต้องห้อง 309
เมืองลี่เจียง โรงแรม He Xi อยู่ที่ The Square of South Gate Lijiang Old Town 86-0888-3105888
ร้านอาหารและของกิน
ส่วนมากเป็นร้านเล็กๆพื้นเมือง ไม่ควรกินอาหารที่ไม่สุกหรือน้ำดื่มไม่สะอาดเพราะจะท้องเสียได้ง่าย เพื่อความปลอดภัยควรขอน้ำร้อนมาลวกจานชามก่อนกินอาหารทุกครั้ง ผักในเมืองจีนเก็บสดๆจึงกรอบอร่อยแต่ควรทำให้สุกก่อน ที่อร่อยมากคือพริกหยวกหรือพริกใหญ่เขียว ผัดน้ำมันอร่อยมาก แฮมยูนนานกินเล่นอร่อยเพลิน ที่ห้ามพลาดคือขาหมูยูนนานกินกับหมั่นโถร้อนๆ และยามเช้ามีปาท่องโก๋ตัวโตๆทอดขายทั่วไป อย่าลืมผลไม้แห้งแช่อิ่มหรืออบแห้งและบ๊วยหวานเค็มนานาชนิดติดไว้ในรถ เมื่อถึงทิเบตควรลองชิมเนื้อจามรีของดีราคาแพง ทำกินได้หลายอย่าง คนไม่กินเนื้อมาหลายปีลองแล้วยังติดใจ บอกว่าไม่เหม็นเลย ขากลับอย่าลืมซื้อเนื้อสวรรค์จามรีมีขายหลายร้านที่ลี่เจียง
ของควรซื้อ
แส้ขนจามรี เนื้อสวรรค์จามรี หากไม่สงสารมัน ของกินควรซื้อแฮมยูนนาน ผลไม้แห้ง ที่ทิเบตควรซื้อกังหันมนตราเป็นที่ระลึก ซื้อในวัดอาจแพงกว่าไม่กี่บาทแต่ได้ทำบุญไปด้วย สร้อยหินเม็ดเป้งๆร้อยหลากหลายแบบใส่เดินกรุงเทพเก๋มากๆมีขายตามร้านขายของที่ระลึก เครื่องประดับเงินแบบจีนมีขายไม่แพงที่ลี่เจียงหรือเมืองเล็กๆระหว่างทาง เสื้อจีนใส่เล่นถูกๆหลายแบบมากมายมีขายทั้งที่ต้าลี่และลี่เจียง เสื้อผ้ากระเป๋ารองเท้าปักมือแท้ๆก็น่าซื้อ ที่ต้าลี่ต้องซื้อผ้าปูเตียงคลุมโต๊ะมัดย้อมสีน้ำเงินขาว ของเก่าแท้ของแต่งบ้านกระจุกกระจิกมากมายเหมาะนำมาแต่งบ้านสไตล์โอเรียนทัล อย่าลืมว่าซื้อของทุกอย่างต้องต่ออย่างน้อยครึ่งราคา
การเตรียมตัวและของที่ควรนำติดรถไป
ใครกินอาหารรสจืดไม่ได้ควรพกน้ำปลาพริกป่นไข่เค็มปลาเค็มตามอัธยาศัย ในรถควรมีผ้าห่มเสื้อหนาวพร้อมหยิบฉวย ร่มมีประโยชน์มากเอาไว้ใช้กางบังเวลาจอดชิ้งฉ่องข้างทาง กระติกน้ำร้อนห้างลืมเพราะก่อนออกจากโรงแรมทุกเช้าให้ขอน้ำร้อนใส่กระติกไว้ให้เต็ม เอาไว้ใช้สารพัดประโยชน์ทั้งชงกาแฟ มาม่า โจ๊กและล้างถ้วยชาม กระดาษเช็ดมือแบบเปียกหรือผ้าเย็นเอาไปเยอะๆ อย่าลืมยาประจำตัวและยาเบื้องต้น ขนมขบเคี้ยวและของใช้กระจุกกระจิกเอาไปเกินไว้ก่อนเป็นดีเพราะเส้นทางส่วนมากเป็นชนบท ร้านค้าหายากและคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เสื้อหนาวและลองจอห์นเอาเกินไว้ก่อน เมื่อถึงจงเตี้ยนให้ซื้อออกซิเจนกระป๋องติดไว้ก่อนขึ้นเต๋อชิงเพราะยิ่งสูงยิ่งแพง
เกร็ดเล็กน้อย
– การออกเสียงชื่อสถานที่ต่างๆในภาษาจีนจะไม่ตรงกับการเขียนในภาษาอังกฤษ ทางที่ดีควรศึกษาไปหรือถามคนท้องที่ถึงการออกเสียงให้ถูกต้องจะได้ไม่หลงทางและอ่านแผนที่ได้ถูกต้อง
– คนส่วนมากพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยแม้แต่ในโรงแรมสี่ดาว จึงควรพกไกด์บุคหรือดิกชันนารีจีนไปด้วย
– เพื่อความสะดวกในการขออนุญาตนำรถเข้าประเทศลาวและจีน ควรใช้บริการบริษัทที่ชำนาญรับดำเนินเรื่องพร้อมรับจัดโร้ดทริป
….โห … อ่าน เพลิน และ คงไท่ต้องไปเองแล้ว
เพราะ ที่เจียนนี้ ละเอียด มาก บรรยาย ให้เห็น ราวกับ ได้ไปด้วยตัวเอง ??????
ขอบคุณมากค่าาาา
สุดยอดค่ะ..น้องฟ้าอ่านแล้วอยากไปเลย..!!อยากไปซื้อผ้าปูโต๊ะ,กระเป๋า,รองเท้า,สร้อยหินสี..(ต้าลี่คือความฝันค่ะ..เพราะดูจินซีฮ่องเต้แล้ว..ต้าลี่ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์จีน)
ดีใจที่ชอบค่ะ อยากกลับไปอีกเหมือนกันค่า
Comments are closed.