แม้จะเจาะลึกเปรูไปแล้วอย่างละเอียดสามเมืองกับถึงสองสัปดาห์ ความลึกลับและปาฏิหาริย์ของเปรูก็ยังคงตกตะกอนนอนอยู่ในใจฉันอย่างไม่เสื่อมคลาย หนึ่งปีผ่านไป..ภาพประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คอยจะผุดขึ้นมาในใจตลอด ทุกครั้งก็จะรู้สึกว่าความสุขมันล้นท่วมท้นและคิดถึงขึ้นมาอย่างรุนแรง เหมือนมีเสียงเรียกให้กลับไปอีก ไม่เคยเลยที่ฉันจะเฝ้าวนเวียนครุ่นคิดอยากกลับไปเยือนสถานที่เดิมที่เคยไปมาแล้วอย่างสลัดออกจากหัวไม่ออกเช่นนี้ เหมือนคนที่ตกหลุมรัก นี่ฉันคงจะต้องมนต์สะกดลึกลับของเปรูเข้าเสียแล้ว
ในเมื่อถูกวางยาให้รักแล้วเช่นนั้นก็ต้องตามรักไปให้สุดขอบฟ้า ฉันจึงวางแผนกลับไปเยือนเปรูอีกครั้งในเดือนมีนาคมของปีถัดมา เป็นช่วงเวลาเดียวกับปีก่อนที่ไปเยือน แม้จะหวั่นๆว่าอาจจะเจอฝนบนยอดมาชูปิชูอย่างปีที่แล้ว แต่รักเสียจนตาบอดแล้วเช่นนี้ถึงไหนก็ถึงกัน นอกเหนือจากย้อนรอยรักเก่าขึ้นมาชูปิชูและ Sacred Valley อีกครั้ง ฉันจึงวางแผนไปทะเลสาบ Titicaca ที่คราวที่แล้วพลาดไปเสียด้วย แค่ตอนที่วางแผนการเที่ยวก็สนุกล่วงหน้าจนต้องยิ้มคนเดียวไปหลายรอบแล้ว ไม่นับความตื่นเต้นที่บ่มมากขึ้นๆทุกวันจนแทบจะรอให้วันเดินทางมาถึงไม่ไหว
ด้วยทฤษฎี“เก็บของดีไว้ทีหลัง” ฉันจึงเก็บมาชูปิชูไว้ปลายทริป และเริ่มทริปที่ทะเลสาบติติกากาก่อน เราต้องบินไปลงที่เมือง Juliaca จากนั้นต้องนั่งรถอีกชั่วโมงหนึ่งต่อไปเมือง Puno ระหว่างทางเราจอดแวะเที่ยว Sillustani อันเป็นหลุมศพเก่าของอินคา เราได้ไกด์ชาวพื้นเมืองชื่อ Placido ซึ่งจะพาเราเที่ยวตลอดสองวันที่อยู่ปูโน ฉันชอบเขามากเพราะเขาเป็นคนพื้นเมืองแท้เลือด Aymara ต้นเผ่าบรรพบุรุษก่อนยุคอินคา เวลาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณลึกลับจึงดูน่าเลื่อมใสเป็นพิเศษ Sillustani นี้ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆริมทะเลสาบชื่อ Umayo กลางทะเลสาบมีเกาะเล็กๆชื่อเดียวกับทะเลสาบคือ เกาะ”อูมาโย่” ริมทะเลสาบมีแผ่นดินส่วนหนึ่งลักษณะแปลกไป คือยื่นเข้าไปในน้ำเป็นฟันปลาแนวซิกแซก ปลาซิโดบอกว่าเรียกว่า Waruwaru เป็นเทคนิคการเพาะปลูกโบราณ เพื่อสร้างสภาพภูมิอากาศจำลอง (Micro Climate) ให้เหมาะสมสำหรับมันฝรั่งที่จะเติบโตงอกงามให้เก็บเกี่ยวกินได้ตลอดทั้งปี แค่เริ่มก็น่าทึ่งในความชาญฉลาดของอินคาจนต้องร้องโอ้โหกันแล้ว
ส่วนตัวสุสานนั้นเรียกว่า Chullpa มีหลายจุดกระจายกันบนเนินเตี้ย สร้างขึ้นมาตั้งแต่ยุคก่อนอินคาเสียอีก คือสมัยอารยธรรม Colla ที่พูดภาษา Aymara อารยธรรมของเปรูนั้นมีมาตั้งแต่ก่อนอินคาถึงสามยุค เพราะยุคอินคาจริงๆนั้นผ่านมาแค่ 400 กว่าปีเท่านั้นเอง ตรงหน้าสุสานที่ปลาซิโดชี้ให้ดูยังมองเห็นชิ้นกระดูกเล็กๆเกลื่อนอยู่เลย หากไม่ดูดีๆก็จะนึกว่าเป็นหิน และมีซากพวกของที่นำมาเซ่นหล่นอยู่ด้วยบนพื้น เหตุที่กระจัดกระจายอยู่นอกหลุมเช่นนี้ก็เพราะพวกสเปนที่บุกมาขุดหาทองในสุสาน ทำไว้เละเทะอย่างไม่เคารพศพที่อยู่ในนั้นเลย ส่วนสุสานที่ใหญ่ที่สุดนั้นเห็นเป็นอาคารหอคอยกลมสูงเด่นชัดที่สุดในบริเวณ ชิ่อ Chullpa Lagarto ลักษณะก็ต่างไปจากหินที่ก่อเป็นหลุมหรืออาคารอื่นๆ คือเป็นหินที่ตัดจนเป็นก้อนที่มีด้านเรียบหลายด้านมาเข้ามุมกัน จึงทำให้รู้ว่าสุสานหอคอยนี้สร้างขึ้นในยุคอินคา ตรงผนังด้านบนมีรูปแกะเนื้อหินเข้าไปเป็นตัวจิ้งจก ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ผู้พิทักษ์น้ำ หอคอยนี้สูงถึง 12 เมตร คาดว่าอินคาใช้วิธีสร้างโดยทำสะพานลาดเพี่อขนหินแต่ละก้อนขึ้นไปก่อซ้อนกันสูงขึ้นไปทีละก้อน ปลาซิโดเล่าว่าเดิมหอคอยนี้มีหลังคาเป็นทรงโดมคลุมด้วย ส่วนด้านในของหอคอยนั้น มีสร้างเป็นแท่นไว้วางศพสูงจากพื้นขึ้นไปเจ็ดเมตร ว่ากันว่าเคยพบทองในนี้หนักถึง 4 กิโลกรัม ปากทางเข้าหอเก็บศพนั้นอยู่ตรงพื้นเป็นช่องเปิดเล็กนิดเดียว แทบจะต้องคลานมุดเข้าไป ที่เล็กเพราะไม่ได้ทำไว้ให้ใครเดินเข้าเดินออก มีไว้แค่ให้คนนำของเซ่นเข้าไปวางไว้เท่านั้น นักโบราณคดีพบศพข้างในหอนั้นถึง 65 ศพ เป็นศพผู้นำและบริวารที่ถูกสังเวยชีวิตให้ตายตามกันไปเพื่อไปรับใช้ในโลกหลังความตาย สันนิษฐานว่าศพทั้งหมดนั้นถูกลำเลียงเข้าไปทางหลังคา ก่อนที่จะปิดหลังคารูปโดมลงฝังศพทั้งหมดไว้ในนั้น ส่วนหลุมศพที่เป็นของยุคก่อนอินคานั้น พบศพอยู่ 34 ศพ เดินดูรอบๆเนินนั้น หากสังเกตดีๆจะเห็นเศษกระดูกเล็กๆแตกอยู่บนพื้นเหมือนหิน ไม่บอกก็ไม่รู้ว่าเป็นกระดูก ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าของกระดูกเหล่านี้ตายไปตั้งหลายร้อยปีมาแล้ว

บนเนินนั้นยังมีโบราณสถานอื่นนอกไปจากสุสานฝังศพ เช่นมีวัดหรือศาสนสถานที่เหลือฐานเป็นรูปทรงกลมของซากหินกองอยู่ ประตูเข้าวัดนี้จะหันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเสมอ และจะมีบันไดสามขั้นเป็นสัญลักษณ์ของไตรภูมิ เหมือนกับที่เราเคยเห็นมาแล้วที่คุสโก้ ตัววัดนี้จะสร้างในบริเวณที่“พิเศษ”เท่านั้น แม้กระทั่งในปัจจุบัน ชาวพื้นเมืองก็ยังนำของขึ้นมาเซ่นไหว้บูชาที่วัดนี้กันอยู่
เดินลงเนินมาตรงทางเข้าโบราณสถานนี้นั้น มีหินพิเศษตั้งอยู่ก้อนหนึ่ง เพราะแกะสลักเนื้อหินเข้าไปเป็นรูปขดก้นหอย มีความเชื่อว่า หากเอามือข้างที่ไม่ได้ใช้เขียนหนังสือวางทับไปบนนั้นก็จะได้รับพลังพิเศษ และมีหินแปลกที่เป็นรูปหน้าเสือพูม่าตั้งอยู่ ว่ากันว่าเป็นหินผู้พิทักษ์ และหากเอาเข็มทิศมาวางไว้บริเวณนี้ เข็มจะชี้ไปทางทิศตะวันตกแทนที่จะเป็นทิศเหนือ เพราะพลังแม่เหล็กในบริเวณนี้ แค่เริ่มต้นเที่ยวได้จุดเดียวก็เต็มไปด้วยเรื่องราวลึกลับอัศจรรย์แล้ว นี่แหละ เปรูของแท้
ที่ไม่ใช่เรื่องลึกลับแต่น่าสนใจจนต้องเล่าก็คือ ในบริเวณนั้นมีแนวกำแพงหินเตี้ยๆก่อโดยอินคา ฉันเห็นริมกำแพงมีก้อนดำๆเล็กๆเต็มไปหมดเหมือนอึหนู ปรากฎถามดูจึงรู้ว่าว่าเป็นอึของตัวกินนิพิก (Guinea Pig) หรือที่เปรูเรียกว่า “คุ่ย” Cuy ที่อาศัยอยู่ในดินใต้กำแพงนั้น เจ้า“หนูทดลอง”นี้เป็นอาหารชั้นดีของชาวเปรู แต่ฉันเห็นจะไม่ขอลองด้วยหละ
ระหว่างทางที่รถแล่นออกมาจาก Sillustani นี้มีบ้านชาวบ้านสร้างเรียงกันอยู่สองฝั่งถนน เป็นแบบบ้านที่น่ารักสุดๆและไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนแม้กระทั่งในเปรูเองก็ไม่เห็นมีที่อื่น ถนนที่เราแล่นรถมาอยู่ในระดับสูงกว่า จึงมองเห็นการวางผังบ้านด้านในว่าเป็นลักษณะเดียวกับบ้านเรือนไทย คือแบ่งเป็นห้องต่างๆชิดกำแพงและมีส่วนโล่งตรงกลางเชื่อมทุกห้องไว้ โดยทำเป็นสวนกลางบ้านปลูกต้นไม้ดอกไม้น่ารักมากๆ ทั้งตัวบ้านทั้งกำแพงเหมือนสร้างจากดินจึงเป็นสีน้ำตาลเข้มเหมือนดินเปียก สีสวยเชียว ส่วนห้องน้ำเห็นสร้างเป็นห้องเล็กอยู่ห่างออกไปหลังบ้าน ส่วนที่ฉันกรี๊ดกร๊าดร้องขอให้จอดรถถ่ายรูปก็คือตรงประตูเข้าบ้านนั้น เขาทำเป็นซุ้มประตูโค้ง แล้วปั้นตัวกระทิงเป็นตุ๊กตาดินยืนประดับซุ้มไว้เรียงกันหลายตัวเชียว น่ารักจริงๆเหมือนเอาดินมาปั้นเป็นบ้านตุ๊กตา ปลาซิโดบอกว่าตุ๊กตากระทิงนั้นคือเครื่องรางป้องกันความชั่วร้ายเข้าบ้าน คนรักสถาปัตยกรรมอย่างฉันเห็นแล้วไม่อยากจากมาเลย อยากจะสร้างบ้านไว้อย่างนั้นตรงนั้นบ้างสักหลัง นอกจากจะสวยถูกใจแล้วท่าทางจะอยู่สบายอีกด้วย ไม่นับวิวเขาและทะเลสาบที่ล้อมอยู่ และบรรยากาศที่ขลังศรัทธาขาดใจอีกต่างหาก ชอบๆๆ
แค่เที่ยงกว่าๆเราก็มาถึงปูโนและเช็คอินที่โรงแรม Casa Andina Private Collection ในเครือโรงแรมเปรูที่เราติดใจตั้งแต่มาครั้งที่แล้ว สาขานี้ตั้งอยู่นอกเมืองออกมาหน่อย แต่ติดทะเลสาบติติกากาที่ฉันใฝ่ฝันอยากจะมานอนชมเหลือเกิน ถึงกับระบุจองเอาห้องที่เปิดชมวิวทะเลสาบอย่างเต็มตา เราก็เลยกินข้าวกลางวันกันที่ห้องอาหารโรงแรมนั่นแหละ เพราะอยู่ใกล้ทะเลสาบพร้อมหน้าต่างกระจกจรดพื้นเปิดชมวิวกว้างยิ่งขึ้นไปอีก มาเปรูเดือนมีนานี่ดีจริง ลุ้นฝนตกเอาหน่อยแต่นักท่องเที่ยวไม่เยอะ ไม่ต้องเบียดแย่งกัน ห้องอาหารโรงแรมเลยมีแค่เรากับอีกโต๊ะหนึ่งเท่านั้น เงียบ…สงบ…และนิ่ง ละเลียดชมวิวได้สมใจอยาก
บ่ายเราพักนิดหน่อยเพราะเมื่อเช้าตื่นแต่มืดมาขึ้นเครื่อง จนบ่ายแก่ๆถึงได้ให้โรงแรมเรียกแท็กซี่จากในเมืองมารับไปเดินเล่นในตลาดที่ถนน Bellavista วันนี้เป็นวันเสาร์มีตลาดนัดที่ชาวบ้านมาเดินซื้อของกันเยอะแยะ ฉันสังเกตว่าหลายร้านขายชุดนักเรียนทั้งเสื้อกระโปรงถุงน่องรองเท้าครบ ตอนหลังถึงรู้ว่าวันจันทร์เป็นวันโรงเรียนเปิดเทอม คนเลยมาซื้อชุดนักเรียนใหม่กัน ของขายเป็นของใช้ประจำวันของชาวบ้านเหมือนตลาดโบ๊เบ๊ ไม่ได้เป็นของพื้นเมืองอย่างที่ตลาดปิแซค แต่ก็ได้รสชาติท้องถิ่นแท้ๆดีเพราะเราเดินเบียดปนไปกับชาวบ้าน ไม่มีนักท่องเที่ยวอื่นเลย

ฟ้าเริ่มมืดแล้วเราจึงเดินต่อไปมุ่งสู่ถนน Lima อันเป็นถนนคนเดินของนักท่องเที่ยว มีร้านอาหารน่ากินตามไฟสลัวๆโรแมนติกมากมาย รวมทั้งร้านขายของที่ระลึกและงานฝีมือพื้นเมืองท้องถิ่น บรรยากาศเมืองเล็กอารมณ์ศิลป์เหมือนลี่เจียง ปาย ฮอยอัน พาราตี ซานเปโดร คุสโก้แบบที่ฉันชอบนักชอบหนา มันเงียบ มืด โรแมนติก อาร์ต มีชาวบ้านผูกผมเปียสองข้างยาวถึงเอวนุ่งกระโปรงบานรอบตัวมาปูเสื้อขายงานฝีมือแบบกะดิน เดินแล้วอารมณ์ดีเป็นที่สุด เพียงต้องห้ามใจไม่ให้ตบะแตกซื้อของมากนักเท่านั้น แม้ว่าใจมันคอยจะอ่อนอยู่เรื่อยเวลาเห็นหน้าคุณป้าแม่ค้าแทบทุกร้านไป ชาวบ้านคนขายของที่เปรูนี้ฉันเห็นแล้วสงสารทุกที เพราะไม่ว่าที่ไหน แม้แต่ในตลาดปิแซคที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ฉันไม่เคยเห็นเขายัดเยียดเร่งเร้าตามตื๊อขายของเลย สุภาพขี้อายและดูเจียมเนื้อเจียมตัวทั้งนั้น ข้าวของที่ขายก็แสนจะสวยๆและเป็นของพื้นเมืองแท้ๆ และส่วนมากก็ถูกแสนถูก อย่างคราวนี้ฉันสอยได้เสื้อขนอัลปาก้าถักตาห่างๆแบบใส่คลุมซีทรูมาตัวหนึ่ง ราคาสามร้อยบาท และได้ถุงมือขนอัลปาก้าหนานุ่มใส่แล้วอุ่นต่อให้ศูนย์องศาก็เถอะ แค่ร้อยกว่าบาท ส่วนบรรดาผ้าห่มพรมเปรูสีสดยั่วตายั่วใจนั้นได้แต่ท่องคาถาว่า “รอก่อนๆ” ปีที่แล้วซื้อไปเต็มบ้านยังพับเก็บไว้ในห่ออย่างดีอยู่เลย รอต่อห้องนั่งเล่นใหม่แต่งแบบแขกผสมละตินแล้วค่อยเอามาปู เพราะฉะนั้นพอแล้วๆอดใจไว้
เราเดินไปสุดถนนจนถึงลานกลางเมือง โบสถ์และอาคารสำคัญประจำเมืองล้อมรอบอยู่สี่ด้านตามแบบเมืองละตินอาณานิคมสเปน ส่องไฟเหลืองนวลมลังเมลืองงดูขลังจัด เดินย้อนกลับมา ดูร้านอาหารทุกร้านแล้วแม้จะน่ารักน่ากินไปหมด แต่วันนี้เราขอแหวกแนว เดินต่อมาจนพ้นเขตนักท่องเที่ยว เข้าย่านที่มีแต่ชาวบ้านแท้ๆ แล้วเลือกเข้าไปกินร้านขายไก่ย่างที่มีแต่ชาวบ้านกินกัน เหมือนร้านยอดนิยมประจำเมือง หน้าร้านมีไก่เสียบหมุนอยู่ในเตายักษ์หลายสิบตัวอย่างกับโรงงานขายส่ง โต๊ะไม้เรียงติดๆกันแบบง่ายๆ เมนูมีอย่างเดียวคือไก่ย่าง มากับซุปใสใส่ข้าวคนละถ้วยและมันฝรั่งทอด ไก่ครึ่งตัวขนาดยักษ์พร้อมเครื่องดื่ม กินกันอิ่มแทบตายสองคน 180 บาท ได้บรรยากาศชาวบ้านสุดๆ
พอนั่งแท็กซี่กลับมาถึงโรงแรมปรากฎว่าไฟดับทั้งเมือง มองข้ามทะเลสาบไปฝั่งเมืองที่เพิ่งจากมาแทนที่จะเห็นไฟเหลืองพราวเต็มเนินกลับมืดตื๋อไปหมด เข้าห้องก็ไม่ได้เพราะไม่มีไฟ อาบน้ำไม่ได้เพราะไม่มีน้ำร้อน ไม่เป็นไรเรานั่งดริ๊งค์พิสโก้ซาวร์รอหน้าเตาผิงที่แตกปะทุปุปะที่ล้อบบี้ก็ได้ แต่ยังไม่ทันสั่งดริ๊งค์ฉันก็เริ่มปวดหัว จากน้อยๆมากขึ้นจนแทบทนไม่ไหว อาการเมาความสูงเพราะขาดอ็อกซิเจนมาแล้ว ทรมานจริงๆ มาคราวที่แล้วไม่เห็นเป็นเลย เคยเป็นหนเดียวตอนไปทิเบตเท่านั้นเอง วันนี้คงจะเป็นเพราะตื่นเช้ามากและไม่ได้พัก เดินลุยมาทั้งวัน เป็นบทเรียนว่าเวลาไปเมืองที่อยู่สูงมากๆอากาศบางควรพักผ่อนให้พอล่วงหน้า ที่โรงแรมมีชาใบโคคาร้อนๆตั้งบริการฟรีอยู่ตลอดเวลา ฉันไปรินจิบไปสามแก้ว รู้สึกค่อยยังชั่ว ไฟมาพอดีเลยโซซัดโซเซไปอาบน้ำร้อนจัดๆแล้วซุกตัวใต้ผ้านวมหนานุ่มสะอาดชื่นใจ หลับเป็นตายทั้งคืน
ตื่นเช้ามาอาการปวดหัวหายเป็นปลิดทิ้ง แต่อากาศข้างนอกสิไม่ชวนให้ลุกออกจากเตียงแลย เมื่อคืนว่าหนาวแล้ว เช้านี้ฝนตกปรอยๆและหมอกลงจัดยิ่งหนาวชื้นจับใจ ขนาดนั่งกินอาหารเช้าในห้องอาหารมีกาแฟร้อนในมือและเตาผิงอุ่นๆยังหนาว มองออกไปเห็นวิวหมอกลงบังทะเลสาบขาวเป็นม่านแลดูแปลกตา “ปลาซิโด”มาถึงโรงแรมช้ากว่าเวลาที่นัดกันไว้สิบห้านาที ขอโทษขอโพยใหญ่ บอกว่ารอรถประจำทางจากเมืองที่แล่นมาทางโรงแรมนี้ไม่มาสักที เลยต้องเดินมา เขาไม่เรียกแท็กซี่เพราะแพงมาก ฉันถึงกับอึ้งเพราะค่าแท็กซี่ที่เราเรียกเข้าเมืองกันทีละ 7 โซเลส (ราว 80 บาท)โดยไม่คิดเพราะว่าถูกมากในความคิดเรานั้น มันนับว่าแพงสำหรับคนหาเช้ากินค่ำอย่างเขา ยิ่งช่วงนี้ไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวเขาบอกว่าบางทีไม่มีงานเลยสองสัปดาห์ หลังๆเมื่อเดินทางมากๆเข้าฉันมักจะให้ทิปแก่ไกด์อย่างเต็มอกเต็มใจเสมอ ราคามาตรฐานตามไกด์บุคทั่วไปคือ 5 เหรียญยูเอสต่อคนต่อวันถ้าเป็นกรุ๊ปใหญ่ แต่จะเพิ่มขึ้นมาถ้าเป็นทัวร์ส่วนตัว ถ้าเป็นไกด์ดีๆไม่ขี้เกียจฉันมักแถมเพิ่มด้วยอย่างไม่เคยเสียดายเลย เงินเท่านี้มันใหญ่เมื่ออยู่ในมือเขามากกว่าตอนอยู่ในมือเรา เป็นกำลังใจให้วงการท่องเที่ยวมีไกด์ดีๆต่อไป
หน้าโรงแรมเรานี้มีท่าเรือยื่นออกไปในทะเลสาบ เราเหมือนมาเที่ยวทัวร์ไฮโซเลยเพราะมีเรือลำเบ้อเริ่มนั่งสบายมาจอดรอเทียบท่าอยู่แล้ว เรือนั่งได้เกือบยี่สิบคนแต่มีแค่เราสองคนเป็นไพรเวททัวร์ นอกจากปลาซิโดแล้วยังมีคนขับเรืออีกสอง เรียกว่าคนให้บริการมากกว่าคนรับบริการ อันที่จริงไม่ได้เจตนาจะมาหรูเกินปกติเลย ตอนจองทัวร์นี้มาทางอินเตอร์เน็ตกับบริษัทนี้ไม่ได้ระบุด้วยซ้ำว่าขอไพรเวททัวร์ เห็นว่าราคาดีสมน้ำสมเนื้อและพูดจากันรู้เรื่องดีก็ตกลง คงเป็นเพราะนักท่องเที่ยวช่วงนี้น้อยจริงๆ เลยกลายเป็นว่ามีแค่เราสองคนออกเรือกันหน้าโรงแรมเลยอย่างโก้
วันนี้เราจะนั่งเรือกันทั้งวัน เป็นทัวร์ที่เฝ้าฝันจดจ่อรอคอยอีกหนึ่งรายการ เราจะไปหมู่บ้าน Uros ที่ทั้งหมู่บ้านสร้างจากต้นกกและลอยน้ำอยู่ในทะเลสาบติติกากา และเลยไปเกาะ Taquile จะได้ล่องเรือในติติกากาทั้งวัน ทะเลสาบที่ทุกคนควรต้องมาเยือนสักครั้งในชีวิต
ความพิเศษของทะเลสาบติติกากานี้มีทั้งทางมิติศรัทธาและวิทยาศาสตร์ ในทางภูมิศาสตร์นั้นติติกากาเป็นทะเลสาบที่สูงที่สุดในโลกที่สามารถเดินเรือได้ ด้วยระดับความสูงเหนือน้ำทะเลถึง 3,810 เมตร (ฉันถึงได้เมาความสูงเมื่อคืนไง) ยาว 178 และกว้าง 69 เมตร กินพื้นที่ถึง 8,500 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างสองประเทศคือเปรูและโบลิเวีย ในอดีตนั้นใช้เรือเหล็กจากอังกฤษแล่นข้ามทะเลสาบเป็นเส้นทางคมนาคมหลักระหว่างสองประเทศเป็นประจำ แต่พอถึงปี 1975 มีการสร้างถนนรอบทะเลสาบขึ้น การเดินทางทางบกรวดเร็วกว่ามาก เรือข้ามทะเลสาบนี้จึงถูกปลดระวาง กลายมาจอดเป็นร้านอาหารและพิพิธภัณฑ์อยู่ริมฝั่งปูโนใกล็โรงแรมที่เราอยู่นั่นเอง
ส่วนในทางศรัทธาและจิตวิญญาณนั้น ติติกากามีความสำคัญอย่างมหาศาลสำหรับชาวเปรู เพราะมีความเชื่อว่าชาวอินคาคนแรกถือกำเนิดมาจากทะเลสาบติติกากา โดย Inti หรือสุริยเทพได้ส่ง Manco Capac ลูกชายและ Mama Ocllo ลูกสาวให้ผุดขึ้นมาทะเลสาบแห่งนี้ กลายเป็นชาวอินคาคู่แรกที่ก่อตั้งจักรววรดิอินคาขึ้นโดยมีเมืองหลวงอยู่ที่คุสโก้ Manco Capac สอนให้อินคารู้จักวิธีการรบการเพาะปลูกและวิทยาการต่างๆ ส่วน Mama Ocllo สอนให้ผู้หญิงรู้จักการทำครัวและการศึกษา อินคาจึงเป็นชนเผ่าที่ฉลาดล้ำเต็มไปด้วยวิทยาการอันก้าวหน้าและแผ่อาณาอารยธรรมไปทั่วละตินอเมริกาในเวลาเพียง 50 ปี
ส่วนชื่อติติกากานั้นก็มีความหมาย Titi แปลว่าเสือพูม่าสัตว์อันเป็นสัญลักษณ์ทรงสิทธิ์ของอินคา Kaka แปลว่าหิน ว่ากันว่าบนเกาะ Isla del Sol อันเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดกลางติติกากานั้นมีหินก้อนหนึ่งรูปร่างเหมือนเสือพูม่า จึงเป็นที่มาของชื่อทะเลสาบ แต่ก็มีอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งกว่า หากกางแผนที่ดูจะเห็นชัดเจนว่า ทะเลสาบติติกากานี้มีรูปร่างเหมือนเสือพูม่ากำลังกระโดดไล่กระต่ายไม่มีผิด ชาวอินคาจึงตั้งชื่อทะเลสาบแห่งนี้ว่า “เสือพูม่า”ตามรูปร่างของมัน ทีนี้ก็มาถึงคำถามที่ว่าแล้วอินคารู้ได้อย่างไรว่าทะเลสาบนี้มีรูปร่างเหมือนพูม่า ในเมื่อด้วยขนาดที่ใหญ่โตขนาดนั้นวิธีเดียวที่จะเห็นรูปร่างได้ก็ต้องเป็นการสำรวจมองลงมาจากทางอากาศไกลๆ ดังเช่นภาพถ่ายทางอากาศที่ฉันเห็นอยู่ในมือนี่ คำอธิบายจากปลาซิโดก็คือ พวกเขาเชื่อว่าชาวอินคานั้นมีน้ำจากสมุนไพรชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะสามารถถอดวิญญาณออกจากร่างล่องลอยขึ้นไปบนฟ้าได้ จึงสามารถมองลงมาเห็นติติกากาเป็นรูปพูม่าชัดเจนทั้งทะเลสาบโดยไม่ต้องพึ่งกูเกิ้ลแมพ….
เรือแล่นฝ่าหมอกขาวและฝนปรอยเข้าสู่ดงกกที่ขึ้นอยู่แน่นขนัด เมื่อเข้าใกล้จึงมองเห็นว่าเรามาถึง Uros หรือหมู่บ้านกกลอยน้ำแล้ว แปลกตาจริงๆ บ้านเรือนสร้างด้วยต้นกกแห้งสีเหลืองทองตั้งอยู่บนแพที่ทอถักขึ้นจากกกสีทองเช่นเดียวกัน มีเรือทำจากกกแบบเดียวกันจอดลอยอยู่ริมแพบ้านใครบ้านมัน แลดูคล้ายบ้านตุ๊กตาน่ารักกระจายบนหลายเกาะลอยน้ำอยู่ไม่ห่างกัน นี่มันไม่ใช่หมู่บ้านเล็กๆเลย มีทั้งหอคอยทั้งสนามกีฬา มีแม้กระทั่งอาคารโรงเรียนตั้งสามโรงเรียนและสถานีอนามัย ถามปลาซิโดว่ามีทั้งหมดกี่เกาะ เขาหัวเราะแล้วตอบว่าบอกไม่ได้ เพราะชาวบ้านต่อเติมแพนี้อยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็ตัดกกมาสร้างแพเพิ่มกลายเป็นเกาะใหม่ บางทีทะเลาะกันก็ตัดแพแยกออกจากกัน เออ…ง่ายดี
เราจอดเรือขึ้นไปเยี่ยมชมบ้านหนึ่ง ก้าวขึ้นบนแพต้นกกเดินแล้วรู้สึกยวบๆเหมือนพื้นนุ่มๆแต่ก็ไม่โคลงเคลง บริเวณแพใหญ่ทีเดียว จากท่าจอดเรือด้านหน้าขึ้นมาเป็นลานกว้างก่อน มีบริเวณเพาะปลูกมะเขือเทศดอกไม้ได้ด้วย และมีรั้วล้อมเป็นเล้าไก่อีกต่างหาก แถมยังมีเลี้ยงนกฟลามิงโก้สีส้มสวยอีก เรียกว่าเป็นสวนรอบบ้านที่น่ารักทีเดียวหละ ตรงกลางเป็นบ้านซึ่งมีเพียงห้องเดียว เข้าประตูไปแล้วก็นั่งล้อมวงกันตรงหน้าเตียงนอนเขาตรงนั้นเลย เขาสาธิตวิธีการสร้างแพให้ดู มีการตัดเอากกที่มัดเป็นแพให้ดูว่าหนาเท่าไร จมอยู่ในน้ำเท่าไร เขามัดกกนี้ติดกันเป็นฟ่อนๆแล้วจึงเอาต่อกันเป็นแผ่นแพใหญ่ขึ้นเท่าที่ต้องการ ด้านล่างมีหลักปักยึดไว้กับพื้นใต้น้ำ กกที่อยู่ใต้น้ำจะเน่าเปื่อยไป เขาต้องคอยตัดเอากกมาปูทับด้านบนอยู่เรื่อยๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาใช้ในชีวิตประจำวันล้วนทำมาจากกกนี้ทั้งสิ้น บ้าน เรือ เฟอร์นิเจอร์ ลูกสาวตัวน้อยหน้าตาน่ารักอายุสี่ขวบใส่ชุดประจำเผ่ากระโปรงบานนั่งตาแป๋วฟังพ่อแม่บรรยายให้นักท่องเที่ยวอย่างเราฟัง ชื่อเมลานี นั่งฟังไปในมือก็ถือกกแทะกินตรงโคนไปประหนึ่งขนมขบเคี้ยว ดูสิ.. กกนี้ใช้งานได้แม้กระทั่งเป็นอาหาร เขาว่าอุดมไปด้วยธาตุไอโอดีน ฉันว่าดีนะ กินบ้านตัวเองได้ด้วย เขาหัวเราะกันใหญ่
ชาวบ้านบนอูโรสนี้มีชีวิตเรียบง่ายและจำกัดมาก อาหารการกินเก็บเกี่ยวเอาจากในน้ำ เสื้อผ้าก็ถักทอใช้เองโดยซื้อไหมมาจากบนฝั่ง แม้จะมีคำบ่นว่าชาวบ้านเริ่มกลายเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น และเปลี่ยนแปลงงานฝีมือมาเป็นแบบที่จะขายนักท่องเที่ยวได้ง่ายแทนที่จะอนุรักษ์แบบดั้งเดิมไว้ และตั้งหน้าตั้งตาขายทัวร์กัน อย่างเช่นที่เขาสาธิตการสร้างแพและบ้านจากต้นกกให้เราดูนี้ เขาเตรียมการไว้อย่างดีประหนึ่งแสดงนิทรรศการ เพราะมีแบบจำลองและบ้านย่อส่วนให้เห็นและเข้าใจง่ายๆ มีแผนที่ประกอบการ ไม่รู้ว่าชาวบ้านเขาคิดได้เองหรือทัวร์ไปคิดไว้ให้ แต่ฉันก็ยังรู้สึกว่าเขาเป็นธรรมชาติ เวลาอธิบายดูจริงใจไม่ยัดเยียด พูดคุยกับเราเหมือนชาวบ้านรับแขกส่วนตัวอย่างเต็มใจ พ่อบ้านเล่าเรื่องแพไปแม่บ้านก็ปักผ้าไป เมลานีก็นั่งแทะกกไป ไม่มีอารมณ์เป็นธุรกิจ ดูแล้วไม่รู้สึกว่าซื้อทัวร์มาชมการแสดง และฉันก็รู้สึกว่าเขากินอยู่กันแบบพอเพียงจริงๆ จนนึกสงสารควักเงินซื้อผ้าทอที่เขาทำเองและสายสร้อย แถมด้วยหมวกแบบเดียวกับที่เมลานีใส่เปี๊ยบที่แม่เธอถักเองมาด้วย
ปลาซิโดเล่าว่าชาวบ้านบนเกาะอูโรสในปัจจุบันนี้เป็นเลือดผสมระหว่างอูโรและอัลไมร่า ชาวอูโรเลือดแท้คนสุดท้ายตายไปเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว จึงไม่มีเผ่านี้แท้ๆเหลืออยู่อีกแล้ว ชาวอูโรเชื่อว่าตัวเองเป็นมนุษย์พิเศษ แข็งแรงและเหนือกว่ามนุษย์อื่นๆ เพราะมีเลือดสีดำไม่เหมือนคนทั่วไป นี่คือความเชื่อแบบศรัทธา ส่วนคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ก็คือ ติติกากานั้นมีอ็อกซิเจนน้อยเพราะตั้งอยู่สูงมาก กระบวนการคัดสรรทางธรรมชาติจึงทำให้มนุษย์ที่มาตั้งรกรากอยู่บริเวณติติกากาตั้งแต่หลายพันปีที่แล้วนี้ พัฒนาเปลี่ยนแปลงในทางชีววิทยาให้เข้ากับภูมิอากาศ โดยให้มีฮีโมโกลบินมากกว่าคนปกติเพื่อจะได้จับอ็อกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้มากกว่าคนบนที่ราบ เมื่อมีฮีโมโกลบินมากเลือดจึงมีสีเข้มคล้ำ และจะเห็นได้ว่าชาวอูโรสนี้มีอกหนาตัวหนา นั่นก็เพราะเขามีขนาดปอดที่ใหญ่กว่าคนทั่วไปเพื่อให้จับอ็อกซิเจนได้มากนั่นเอง และก็เป็นความจริงที่ว่าชาวอูโรสนี้แข็งแรงและเหนื่อยช้ากว่าพวกเรา
ศรัทธากับวิทยาศาสตร์….. จะเชื่อแบบไหนดี???
เราใช้เวลาละเลียดอยู่กับชาวบ้านเป็นชั่วโมงทีเดียว ด้วยความที่สนใจและประทับใจในชีวิตที่เรียบง่ายและความแปลกไม่เหมือนที่ไหน ตอนจะจากมาทั้งครอบครัวรวมทั้งเมลานีเดินมาส่งถึงเรือ พร้อมยืนโบกมือลาบนแพจนเรือเราแล่นออกมาไกลจนแทบลับตา มองย้อนไปเห็นหมู่บ้านสีทองลอยน้ำที่ทุกอย่างทำจากต้นกกแลดูเหมือนหมู่บ้านตุ๊กตา
นั่งเรือต่อมาอีกเกือบสองชั่วโมงก็ถึงเกาะ Taquile ฝนหยุดและแดดออกกระจ่างพอดี นับว่าโชคดีมากที่อากาศเป็นใจ ก้าวลงจากเรือออกมาจึงได้สูดอากาศที่คมกริบบริสุทธิ์ ชื่นใจจริงๆ วิวเบื้องหน้าสวยขาดใจ ทะเลสาบน้ำนิ่งสีเข้มสงบแผ่กว้างไกลทอดออกไปมีแนวเทือกเขาคลุมด้วยหิมะ อากาศเย็นๆแต่ฟ้ากว้างกระจ่างตา เป็นความไม่มีอะไรที่เห็นแล้วบังเกิดความรู้สึกว่าความสุขมันแล่นกระแทกเข้าใส่หัวใจอย่างเต็มแรง
จากท่าเรือนี้เราเดินไต่ขึ้นเขาไปตามทางเดินเข้าหมู่บ้านโดยใช้เวลาเดินหนึ่งชั่วโมง ตลอดทางนี้เป็นทางเดินที่วิวสวยที่สุดที่ฉันเคยเดินมา ทางเดินแคบๆปูด้วยหินทรายก้อนโตๆสวยอย่างธรรมชาติลัดเลาะไปบนไหล่เขา ซ้ายมือทอดลงต่ำสู่ชายน้ำ เปิดโล่งเห็นทะเลสาบและท้องฟ้า ขวามือเป็นเนินลาดสูงขึ้นไปมีบ้านชาวบ้านปลูกกระจายกัน โดยมีสวนและไร่ขั้นบันไดปลูกมันฝรั่งออกดอกสีม่วงสวยและดอกดาเลียสีสด ชาวบ้านจูงวัวเดินสวนมา มีแกะนอนเล่นบนเขา ธรรมชาติและสงบมาก เห็นแล้วอยากคว้าบ้านที่เห็นสักหลังนี้มาเป็นเจ้าของ จะนอนมองวิวสูดอากาศบริสุทธิ์ให้ขาดใจตายไปเลย แต่ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะสิ่งที่น่าประทับใจและน่าแปลกใจด้วยก็คือ ชาวเกาะทาควิลนี้เคร่งครัดเรื่องการดูแลชุมชนของตัวมาก เขาต้องการอนุรักษ์เอกลักษณ์ทุกสิ่งทุกอย่างของเกาะนี้ซึ่งไม่เหมือนที่ไหนเอาไว้ เมื่อการท่องเที่ยวมาเคาะประตู ชาวบ้านที่นี้ไม่ปฎิเสธเงินและโลกที่หมุนไป แต่เขาขอจัดการกับโลกภายนอกโดยไม่ขายวิญญาณ นั่นคือเรือท่องเที่ยวที่จะนำคนภายนอกเข้ามาเยือนเกาะนี้ต้องเป็นเรือที่ได้รับอนุญาตจากเทศบาลเกาะแล้วเท่านั้นเพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และห้ามมีการสร้างโรงแรมขึ้นบนเกาะโดยเด็ดขาด หากนักท่องเที่ยวต้องการค้างบนเกาะก็สามารถอยู่กับชาวบ้านที่เปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ ที่สำคัญห้ามซื้อขายที่ดินให้กับคนนอกเกาะโดยสิ้นเชิง แม้แต่ชาวเปรูที่ไม่ใช่ชาวเกาะก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินที่นี่ได้ วิธีเดียวเท่านั้นคือต้องมาแต่งงานกับชาวเกาะ เขาชัดเจนว่าต้อนรับโลกภายนอกแต่ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของเขาเท่านั้น ที่นี่จึงยังคงวิญญาณท้องถิ่นแท้ที่พอเพียงและไม่กลายพันธุ์
ระหว่างทางปลาซิโดก้มลงเด็ดช่อไม้เล็กๆให้ เป็นกิ่งสีน้ำตาลเล็กๆมีใบเขียวเล็กๆติดเหมือนช่อสมุนไพรปรุงอาหาร เขาบอกให้ขยี้ดม แก้เมาความสูงได้ หอมละมุนชื่นใจจริงๆ เรียกว่า “มุนย่า” ฉันชอบมากๆ พอขยี้ดมจนหมดก็คอยเก็บช่อใหม่จากขึ้นมาจากข้างทางดมตลอด
ทางเดินทอดมุ่งเข้าสู่หมู่บ้าน ใจกลางของชุมชนนี้คือลานกว้างที่ขนาบด้วยโบสถ์ด้านหนึ่งและศาลาว่าการชุมชนอีกด้านหนึ่ง มีร้านขายผ้าทอและหมวกถักร้านใหญ่ที่เสมือนเป็นสหกรณ์ที่ชาวบ้านเอาของมาขายรวมกันที่ร้านเดียว เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของที่นี่ก็คือเสื้อผ้าการแต่งตัว ผู้ชายที่นี่สวมกระโปรงจีบรอบตัวมีเข็มขัดโตและกระเป๋าถักคาดเอวเอาไว้ใส่ใบโคคาให้ล้วงหยิบเคี้ยวได้ตลอดเวลา ใต้เข็มขัดนั้นจะมีเข็มขัดหนาอีกเส้นหนึ่งที่เป็นเส้นผมที่ภรรยาเอาผมของตัวเองมาถักให้ น่ารักจัง ส่วนหมวกที่สวมผู้ชายจะถักเอง ที่นี่การถักหมวกเป็นเรื่องสำคัญที่สงวนไว้สำหรับผู้ชายทำเท่านั้น ห้ามผู้หญิงแตะต้อง ภาพผู้ชายถักนิตติ้งในที่สาธารณะจึงเป็นภาพที่ได้ธรรมดาทั่วไปที่นี่ ลายและสีของหมวกก็มีความหมาย หากหมวกสีแดงล้วนแปลว่าแต่งงานแล้ว หากขอบมีริมขาวแปลว่ายังโสด ส่วนผู้หญิงจะใส่เสื้อสีแดงกระโปรงดำ มีผ้าสีดำคลุมผมมหมดและมีลูกกลมๆห้อยที่ปลาย
วันที่เราไปนั้นเป็นวันอาทิตย์ซึ่งจะมีพิธีสำคัญประจำสัปดาห์ นั่นคือทุกคนจะไปโบสถ์กันตอนสายๆตามธรรมเนียมคริสต์ หลังจากเสร็จพิธีการในโบสถ์แล้วชาวบ้านจะมาชุมนุมกันที่กลางลานหน้าโบสถ์นั้น เพื่อฟังหัวหน้าหมู่บ้านซึ่งเป็นข้าราชการบริหารชุมชนประกาศว่าในเจ็ดวันที่ผ่านมาได้ทำงานอะไรไปแล้วเพื่อเกาะบ้าง ดีจังเลย ฟังดูเหมือนเป็นการปกครองบริหารที่โปร่งใสมาก ตอนที่เราไปถึงนั้นพิธีในโบสถ์เสร็จพอดี เราจึงได้เห็นชาวบ้านเดินแถวอย่างสวยงามเป็นระเบียบกันออกมาจากในโบสถ์ นำโดยบรรดาข้าราชการ แต่งตัวกันเต็มยศเป็นเรื่องเป็นราวอย่างเห็นได้ชัดว่าเขาถือเป็นเรื่องจริงจังที่ต้องปฎิบัติทุกวันอาทิตย์ พวกข้าราชการจะแต่งชุดประจำตำแหน่งและสวมหมวกที่ถักเองสีสันสดสวยและทับอีกชั้นด้วยหมวกสีดำเป็นสัญลักษณ์ของตำแหน่ง แลดูเต็มยศอลังการผิดกับความเป็นเกาะบ้านนอก เมื่อเดินออกมาแล้วก็ไปตั้งแถวยืนเรียงกันหน้าศาลากลาง มีชาวบ้านล้อมรอบโดยผู้ชายนั่งบ้างยืนบ้างด้านหน้า ผู้หญิงอยู่แถวหลัง ต่างคนต่างตั้งอกตั้งใจฟังหัวหน้าหมู่บ้านพูด ปลาซิโดแปลให้ฟังว่า นอกจากจะรายงานว่าเขาทำอะไรมาแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา หัวหน้าเทศบาลยังบอกว่าเศรษฐกิจตอนนี้แย่มาก การท่องเที่ยวก็ตกต่ำกระทบมาถึงเกาะ ทำให้รายได้เข้าเกาะจากการท่องเที่ยวลดลง แต่ขอให้ชาวบ้านอดทน อย่าขึ้นราคาโก่งราคาของที่ขายเอาเปรียบนักท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวคือผลประโยชน์ระยะยาว ฟังแล้วประทับใจมาก ว่าเขาบริหารแบบมีหลักการและคุณธรรมจริงๆ ไม่น่าเชื่อว่าเกาะเล็กๆบ้านนอกไกลจากแผ่นดินเป็นชั่วโมงๆอย่างนี้จะเต็มไปด้วยความคิดและจรรยาบรรณขนาดนี้ เห็นได้ชัดว่าเขายากจนและอยู่กันเรียบง่ายก็จริง แต่ความเจริญทางจิตใจนั้นร่ำรวยและซับซ้อนมาก นี่แหละสาเหตุที่ฉันหลงรักเปรู ความสูงส่งทางจิตวิญญาณที่นี่เป็นสิ่งที่ฉันต้องยกไว้ให้
เรากินอาหารกลางวันกันในร้านที่อยากจะเรียกว่าบ้านมากกว่า ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของทั้งครอบครัวร่วมมือร่วมใจกันทำอาหารกลางวันให้เรา ห้องอาหารเล็กๆมีโต๊ะเก้าอี้ตั้งง่ายๆติดกับครัว มีแค่เราสามคนเท่านั้นที่เป็นแขก นึกสงสัยว่าทั้งวันเราขายอาหารได้เท่านี้เองเหรอ แต่ท่าทางเขาก็ตั้งอกตั้งใจทำให้เรามาก มีซุปคินัวร้อนๆใส่เนื้อและสารพัดผัก Quinoa เป็นธัญพืชหลักของประเทศแถบเทือกเขาแอนดิสเช่นเปรู ชิลี เอกวาดอร์ เป็นเม็ดเล็กๆเท่าเมล็ดงา มีโปรตีนและกากอาหารสูง นับเป็นอาหารที่คุณค่าอย่างมาก นอกจากนี้มีขนมปังทำเองคล้ายขนมปังปิต้าแผ่นกลมเล็กๆ และปลาเทร้าต์ทอดกินกับข้าวและมันทอดที่อร่อยและดีต่อสุขภาพมาก และได้ลองกินชาใบมุนย่าใส่มะนาวน้ำตาลด้วย ดีจริงๆได้อุดหนุนชาวบ้านและได้ชิมของแปลกๆ
ระหว่างกินเรานั่งคุยกับปลาซิโดได้ความรู้ว่า ชาวบ้านบนเกาะนี้มีธรรมเนียมว่าชายหญิงจะต้องอยู่กันก่อนแต่ง อ้าว…จริงๆ เขาจะหมั้นแล้วอยู่ด้วยกันสักปีสองปีก่อนเพื่อให้แน่ใจกันและกันจริงๆแล้วจึงจะแต่งงาน แต่ว่าเมื่อแต่งแล้วจะต้องอยู่กันไปจนตลอดชีวิตห้ามเลิก มีหลักการนะนี่
และเรายังได้เรียนรู้เกี่ยวกับใบโคคามากขึ้นนอกเหนือไปจากที่รู้ว่าต้มน้ำดื่มแก้เมาความสูงได้ ที่ว่าชาวบ้านนิยมพกติดตัวไว้เคี้ยว มีแคลเซี่ยมสูง เป็นยาชา และอีกนานาสารพัด คราวนี้เป็นเรื่องของโชคลางและศรัทธาอีกแล้ว ปลาซิโดบอกว่าเวลาล้วงเอาใบโคคาขึ้นมาจากกระเป๋าคาดเอวเพื่อเคี้ยวนั้น ลักษณะใบที่หยิบขึ้นมาได้จะเป็นคำทำนายไปด้วยในตัว หากใบนั้นเป็นใบเล็กแปลว่าคนรู้จักจะคลอดลูก หากใบรีๆจะเป็นลูกชาย ใบกลมเป็นลูกสาว ถ้าหยิบได้ใบหยิกๆจะได้เงิน แต่ถ้าได้ใบที่พับขึ้นมาแปลว่าจะมีคนตาย ปลาซิโดบอกว่ามีหมอดูทำนายอนาคตจากใบโคคาโดยเฉพาะด้วย
กินข้าวเสร็จแล้วเราเดินทะลุหมู่บ้านออกไปเพื่อขึ้นเรือที่มาจอดรออยู่ที่ท่าทางอีกฝั่งของเกาะ คราวนี้เดินลงเนินด้วยบันไดห้าร้อยขั้น เป็นการย่อยอาหารที่ดีมาก และได้เห็นวิวอีกฝั่งหนึ่งของเกาะ ขากลับต้องนั่งเรือเกือบสามชั่วโมงกว่าจะถึงฝั่ง แต่เรือกว้างขวางและส่วนตัวเราเลยเอกเขนกกันอย่างสบายไม่เบื่อ แม้จะหนาวจับจิตแต่ตอนบ่ายแดดออกดีไม่มีฝนและฟ้าโล่งกระจ่างตา ฉันนั่งๆนอนๆนึกถึงเกาะทาควิลที่จากมา ยิ่งคิดก็ยิ่งชอบมาก เกาะนี้เป็นเกาะเล็กๆมีพลเมืองราวสองพันคน มีโรงเรียนถึงชั้นมัธยม เด็กๆเมื่อจบมัธยมก็ต้องเข้าไปเรียนต่อที่ปูโน แม้เกาะจะไม่มีอะไร ทุกอย่างอยู่กันแบบพอเพียง แต่เมื่อเรียนจบแล้วเขาก็กลับมาอยู่เกาะกัน คงจะเป็นเพราะเขารู้ว่าเกาะนี้เป็นของเขาเท่านั้น คนนอกเกาะห้ามเข้ามาซื้อที่ยึดครอง ใครจะมาเยี่ยมชมอย่างไรก็ต้องเป็นไปในกฎเกณฑ์ของเขา หรือจะเป็นเพราะว่าเขารู้ว่า ความสวยบริสุทธิ์น่าอิจฉาแบบนี้มีที่ทาควิลเท่านั้น แล้วเรื่องอะไรจะสละสิทธิ์ที่คนอื่นไม่มีวันได้มา ฉันนึกย้อนถึงความสวยสงบแล้วยังอยากกลับไปอีก
พอเรือแล่นเข้าใกล้อูโรสเราก็ออกมายืนที่ดาดฟ้าเรือชมวิว แดดเริ่มยอแสง หมอกมัวแบบเมื่อเช้าไม่มีแล้ว ทีนี้เราเลยเห็นวิวและชีวิตความเป็นไปแบบอูโรสแท้ที่เมื่อเช้าไม่เห็น นั่นคือจากผืนน้ำทะเลสาบกว้างลึกเริ่มมีกอกกขึ้นขนัดแน่น เรือแล่นไปในทางน้ำที่แหวกกอกกเป็นร่องเดินเรือ น้ำตื้นจนเห็นพื้นด้านล่างรางๆ เห็นชาวบ้านพายเรือเล็กกว้างแค่ตัวแต่บรรทุกกกที่ตัดมาเต็มลำ เป็นภาพ “กลับบ้านหลังเลิกงาน”ที่น่าชมที่สุด วันๆเขาคงจะออกมาตัดกกไปถมแพและถักทอใช้งานต่างๆ เพราะทั้งชีวิตก็ขึ้นกับเจ้ากกนี้ เห็นหนุ่มหนึ่งคนที่นอกจากในเรือจะมีกกเต็มลำแล้ว ยังมีไข่อะไรไม่รู้สารพัดขนาดและรูปร่างวางอยู่ด้วย ปลาซิโดบอกว่าเขาเข้าไปเก็บไข่นกไข่เป็ดน้ำที่มันไปไข่ไว้ในรังกอกก พอแล่นมาอีกหน่อยก็เห็นเป็ดน้ำเต็มไปหมดอย่างกับบึงเป็ด มันว่ายแหวกน้ำเป็นทางๆ สวยแบบถึงเนื้อถึงตัวจริงๆ
พอมาถึงตัวแพหมู่บ้านทีนี้ก็เห็นความคึกคักที่ไม่เห็นเมื่อเช้า แดดอ่อนยามเย็นอากาศสบายและไม่มีฝนทำให้ชาวบ้านออกมาสันทนาการทำกิจกรรมกันนอกบ้าน มองจากไกลๆเข้ามาเห็นกระโปรงสุ่มบานเสื้อผ้าสีสดแบบพื้นเมืองตัดกันสดใสกับหมู่บ้านสีทองที่ยิ่งอาบแดดทองอร่ามไปทั้งหมู่บ้าน ที่น่ารักคือที่แพโรงเรียนมีลานกว้างเห็นนักเรียนผู้หญิงใส่กระโปรงบานสีแปร๋นเล่นวอลเล่ย์บอลกันอย่างคึกคัก เอาสิ ถึงจะเป็นแพต้นกกก็มีสนามวอลเล่ย์นะ เขาใช้งานกันได้ขนาดนั้น ฉันหันหลังมองภาพอันน่ารักของหมู่บ้านนั้นจนลับตา
ก่อนที่แดดสุดท้ายจะหมดลง ฉันยืนบนดาดฟ้าเรือหมุนตัวรอบอย่างจะเก็บวิวตรงนั้นไว้ตลอดไป หมู่บ้านต้นกกสีทองลอยน้ำไม่มีที่ใดเหมือน ทะเลสาบสีเข้มอันนิ่งสงบ กอกกเขียวในน้ำ นกเป็ดน้ำที่ลอยตัวแหวกน้ำตามกันเป็นหมู่ ภูเขาในฉากหลัง เหมือนภาพสุดท้ายของภาพยนตร์ที่จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง มันสวยติดตาเหมือนวันของฉันที่จบอย่างประทับไว้ในใจโดยไม่อาจลืม ติติกากา…. นี่เองคำร่ำลือที่เขาว่ากันว่าต้องมาเห็นให้ได้ก่อนตาย ฉันเข้าใจแล้วว่าทำไม เพราะมันไม่ได้สวยเพียงแค่ที่เห็นด้วยตา หากสวยรุ่มรวยด้วยความลึกซึ้งของจิตวิญญาณอย่างไม่เหมือนใคร
นี่เอง… ทะเลสาบอันเป็นต้นกำเนิดชีวิตของเผ่าอินคา สมควรแล้วที่สุริยเทวาเลือกที่แห่งนี้เป็นต้นตำนานของอารยธรรมที่เกรียงไกรที่สุดในโลก
คัดลอกและปรับปรุงเมื่อ 16 มิถุนายน 2560 จากหนังสือ เปรู ดินแดนแห่งความลับและมนตร์ขลัง อ่านเรื่องเต็มได้ในหนังสือ