กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดด

วันนี้ฉันร้องออกมาดังแบบนี้เลยตอนเดินอยู่ใน“สุสาน” เมื่อเย็นตอนเขียนนี่ยังตื่นเต้นไม่หายอยู่เลยเชียว แต่เปล่าๆ ฉันไม่ได้เจออะไรน่ากลัวเรื่องของเรื่องมันเป็นอย่างนี้

ค่ำวันนี้ฉันมีคลาสเรียนเต้นซาลซ่าประจำสัปดาห์ โรงเรียนอยู่ในซูริกแต่ออกมานอกเมืองหน่อย แถวนั้นไม่มีที่จอดรถ ปกติฉันจะไปจอดตรงที่จอดรถของสุสาน Sihlfeld ซึ่งตอนเย็นไปแล้วจะจอดได้ฟรีไม่จำกัดเวลาและมีที่จอดเยอะ เดินมาแค่ 5 นาทีข้ามถนนก็ถึงโรงเรียน ปกติจากที่จอดรถฉันจะเดินออกมาที่ริมถนนแล้วเดินเลียบไปบนฟุตบาท เคยสงสัยอยู่หลายทีแล้วว่าข้างในสุสานจะเป็นอย่างไร (ใครตามอ่านหนังสือของฉันมานานจะรู้ดีว่าฉันชอบไปชมสุสานมาก) มองจากด้านนอกรั้วพอจะเห็นว่าสวนสวยมาก ร่มรื่นและหญ้าสีเขียวสดสะอาดสะอ้าน เคยนึกอยากจะเดินลัดทะลุสวนจากด้านในออกมาที่ถนน แต่ก็ไม่ได้เดินเสียทีเพราะไปทีไรก็ไปสาย จอดรถแล้วก็ต้องรีบวิ่งมาเข้าห้องเรียนไม่มีเวลาโอ้เอ้ จึงเอาทางที่คุ้นเคยเป็นหลัก แต่วันนี้ไปถึงเร็ว เวลาใกล้หนึ่งทุ่มตรงอากาศดีสดชื่นมากและท้องฟ้ายังสว่างกระจ่างใส จึงตัดสินใจว่าลองเดินเข้าไปในสุสานดีกว่า เคยเห็นว่าตรงใกล้โรงเรียนมีประตูเล็กๆให้คนเดินออกได้ เดินเข้าไปในสวนคงหาประตูนั้นไม่ยาก หรือถ้าไม่เจอจริงวันนี้ก็ยังมีเวลาให้เดินย้อนกลับออกมาที่ประตูใหญ่แล้วใช้ทางเดิม

แค่เดินผ่านพ้นเข้าไปในประตูใหญ่ก็รู้สึกถึงความร่มรื่นและผ่อนคลายอย่างมาก ด้านซ้ายเป็นตึกอาคารใหญ่แบบโบราณ คิดว่าคงเป็นสำนักงานและที่ประกอบพิธีงานศพเพราะสุสานนี้มีเตาเผาศพอยู่ด้วย เดี๋ยวนี้ฝรั่งก็นิยมเผาศพกันเยอะขึ้นเพราะไม่เปลืองที่ดินในการฝัง สวนใหญ่มากๆ ดูแล้วต้องใช้ระยะทางในการเดิน 300 ถึง 400 เมตรได้ ในนั้นไม่มีคนเลย เงียบสงบมาก (ฉันเป็นคนไม่กลัวผีเลยโชคดีไป) มองไปตอนแรกไม่เห็นหลุมศพหรือแผ่นป้ายหินเหนือหลุมศพเลย ยังนึกว่าคงต้องเข้าไปลึกหน่อยละมัง ด้านหน้าคงเป็นสวนสวยงามเฉยๆ มีแม้กระทั่งน้ำพุบนกำแพงสวยงามน่ารักมาก ถ้าไม่บอกคงไม่รู้เลยว่านี่คือสุสาน แต่พอสังเกตุดีจึงเห็นว่าตรงกำแพงที่ปกคลุมไปด้วยไม้เลื้อยสีเขียวนั้นมีหินจารึกชื่อนามสกุลผู้เสียชีวิตอยู่เป็นระยะๆ จึงได้ร้องอ๋อว่าเขาฝังศพ (หรืออัฐิ) บางส่วนไว้บนกำแพงนั่นเอง แต่ตกแต่งได้อย่างสวยงามจนไม่รู้เลยว่าเป็นหลุมศพ

เดินมองและคิดอะไรอยู่เพลินๆก็เห็นว่าตรงกำแพงที่เดินเลียบมานั้น อยู่ดีๆก็มีซุ้มเล็กๆปูดออกมา เห็นแต่ไกลว่ามีรูปปั้นสีขาวของคนสองคนประคองกันอยู่ นึกในใจว่า อุ๊ยตายมีรูปปั้นหินอ่อนโรมันประดับสวนด้วยหรือนี่ ช่างสวยจริงๆ สุสานนี้มีการตกแต่งประดับประดาเยอะเนอะ

ก้าวขาเดินต่อไปเรื่อยๆตาก็มองจ้องไปที่ซุ้มนั้น โดยที่ยังมั่นใจอยู่ว่ามันคือรูปปั้นประดับสวน ขณะที่ขาก้าวไปไม่หยุด (เพราะยังกังวลอยู่ลึกๆว่าจะหาประตูทางออกเจอไหม) แล้วสายตาก็มองกวาดไปเห็นแผ่นที่จารึกอยู่เหนือรูปปั้นสีขาว เมื่อขาได้ก้าวผ่านไปแล้วสามก้าว สิ่งที่ตาเห็นก็ส่งไปประมวลผลที่สมอง ตัวหนังสือที่สลักอยู่เหนือรูปปั้นนั้นคือคำว่า

HENRI DUNANT

เอ๊ะเดี๋ยว เอี๊ยดดดด เบรคหยุดเดินทันที หยุ้ด! อังรีดูนังต์ เฮ้ยนี่คือ “อังรี ดูนังต์” ผู้ก่อตั้งสภากาชาด หรือมันคือชื่อซ้ำฝรั่งชื่อโหล หมุนตัวหันหลังกลับแล้วกระโดดไปที่รูปปั้นทันที จ้องอ่านป้ายเหนือรูปปั้นด้วยความเข้าใจภาษาเยอรมันที่กระท่อนกระแท่น ที่ป้ายนั้นจารึกเอาไว้ว่า J. Henri Dunant บรรทัดถัดมาเขียนปีชาตะ 8 V 1828 (8 พฤษภาคม 1828) ที่เมืองเจนีวา และมรณะ 30 X 1910 (30 ตุลาคม 1910) ที่เมือง Heiden (อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสวิตเซอร์แลนด์ติดกับออสเตรีย) ที่ป้ายบอกด้วยว่าเป็นผู้ก่อตั้ง Red Cross มีกากบาทอยู่ตรงกลางป้าย และก็ยังบอกด้วยว่าเป็นผู้ที่ได้รับรางวัล Nobel Prize สาขาสันติภาพคนแรกของโลก

กรี๊ดดดดดดดดของจริงค่ะ! นี่คือหลุมฝังศพของอังรีดูนังต์จริงๆด้วย!

“อังรี ดูนังต์” ชื่อที่พวกเราท่องตั้งแต่เรียนชั้นประถม ว่าเป็นบุคคลผู้ก่อตั้งสภากาชาดองค์กรที่ช่วยผู้บาดเจ็บในสงครามโดยไม่เลือกฝ่ายใดที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก แถมชีวิตฉันที่กรุงเทพตั้งแต่เด็กจนทำงานก็ได้ใช้ถนน“อังรี” อยู่แทบทุกเมื่อเชื่อวัน รู้ว่าท่านคือคนสวิสแต่ไม่เคยรู้เลยว่าหลุมศพอยู่ที่ซูริกนี่เอง ก็ชื่อฝรั่งเศสเกิดเจนีวา เลยนึกว่าชีวิตส่วนมากจะอยู่ทางฝั่งสวิสฝรั่งเศส แถมสุสานของท่านนี้ยังอยู่ตรงจุดที่ฉันเดินผ่านไปผ่านมาแทบจะทุกอาทิตย์มาเป็นปีอยู่อย่างสงบเงียบไม่มีคนรู้ (มาก) ไม่มีอะไรประดับประดาเอิกเกริก ขนลุกมาก อะไรจะบังเอิญอย่างนี้

พอเรียนเต้นเสร็จแล้วฉันจึงเดินย้อนกลับเข้ามาใช้เส้นทางในสุสานอีกแทนที่จะเดินข้างนอกถนนอย่างเคย คราวนี้ตั้งใจมายืนสงบนิ่งคารวะท่านอยู่ครู่หนึ่ง ตั้งใจว่ามาเรียนเต้นทุกครั้งจะเดินผ่านไปและกลับเพื่อเคารพท่าน แถมกลับบ้านมาก็ยังมานั่งอ่านวิกิพีเดียประวัติละเอียดของท่าน ทำให้ได้รู้เกี่ยวกับชีวิตท่านมากขึ้นว่า ถึงแม้เกิดที่เจนีวาแต่ก็มีเรื่องราวทำให้ต้องย้ายออกมาและไม่ได้กลับไปที่นั่นอีก (เรื่องเกี่ยวกับสภากาชาดนี่แหละ) อังรี ดูนังต์ย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส เยอรมนี และอีกหลายประเทศ เขายากจนมาก เป็นหนี้ซึ่งไม่สามารถใช้ได้จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต แต่เขาก็ไม่เคยแตะต้องเงินรางวัลที่ได้จากรางวัลโนเบลเลย สุดท้ายย้ายกลับมาอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ Heiden ที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาได้รับรางวัลโนเบลเพียงเก้าปีก่อนเสียชีวิตที่เมืองนั้น ในพินัยกรรมระบุเอาไว้ว่า ให้มอบเงินรางวัลแก่องค์กรกุศลและใช้หนี้บางส่วน และมอบเงินก้อนหนึ่งเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ “free bed” เตียงและที่พักสำหรับคนที่ไม่มีเงินในบ้านคนชราที่เขาเสียชีวิตลงตลอดไป และเขายังระบุขอให้ทำการฝังศพโดยที่ไม่ต้องจัดพิธีกรรมอะไรที่สุสาน Sihlfeld ในซูริกนี้นี่เอง

นี่คือชีวิตน่าเศร้าของหนึ่งในบุคคลผู้สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับมนุษยชาติอย่างไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา Henri Dunant นึกแล้วฉันยังไม่อยากเชื่อว่าตัวเองเดินผ่านด้านหลังหลุมศพท่านอยู่บ่อยๆมาหลายปี ขอกราบคารวะด้วยหัวใจ

NO COMMENTS