เชื่อหรือไม่ว่าจอร์เจียคือประเทศแรกในโลกที่ผลิตไวน์ คอไวน์ทั้งหลายก็อาจจะไม่รู้นะเนี่ย ว่ามีหลักฐานว่าจอร์เจียมีการผลิตไวน์มาแล้วตั้ง 8000 ปี! เก่าแก่อะไรจะขนาดนั้น เท่าปิรามิดเลยทีเดียว และที่ยิ่งน่าทึ่งกว่าก็คือวิธีการในการผลิตไวน์ของจอร์เจียนี้ปัจจุบันยังคงใช้วิธีแบบเดียวกันกับที่ทำมาเมื่อ 8000 ปีก่อน!! เหลือเชื่อจริงๆ วิธีการนั้นก็คือเขาจะเอาไวน์เข้าไปหมักไว้ในโอ่งดินเผาที่เรียกว่า Kvevri แล้วก็จะเอาโอ่งนี้ไปฝังดินเอาไว้ ทำให้ไวน์มีอุณหภูมิอยู่ในระดับเดียวกับใต้ดิน บางครั้งอาจจะฝังโอ่งนี้ไว้นานถึง 50 ปีทีเดียว วิธีการทำไวน์แบบนี้เป็นแบบที่เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร จนองค์กร UNESCO ต้องบันทึกการทำไวน์แบบนี้เข้าไว้ในหมวดหมู่ UNESCO Intangible Cultural Heritage Lists ถือเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งทีเดียว

นอกจากวัฒนธรรมการดื่มไวน์ที่จอร์เจียจะเก่าแก่สุดโต่งแล้ว มันยังเป็นชีวิตและจิตวิญญาณของประชาชนชาตินี้ทั้งในชีวิตประจำวันและศาสนาอย่างแยกกันไม่ออก เหตุหนึ่งก็เนื่องจากว่า Saint Nino ผู้ซึ่งมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์จนคนจอร์เจียเกือบทั้งประเทศเป็นออร์โธดอกซ์ที่เคร่งครัดมาจนถึงวันนี้ ได้คว้าเอากิ่งของเถาองุ่นมากไขว้กันเป็นกางเขนแล้วมัดไว้ด้วยเส้นผมของตน จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่เรียกว่า St. Nino’s Cross ปัจจุบันนี้รูปภาพของเซนต์นีโน่ในโบสถ์สำคัญทั่วประเทศจึงมีไม้กางเขนจากเถาองุ่นแทบทุกโบสถ์ ไวน์จึงยิ่งกลายมาเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของคนจอร์เจียยิ่งขึ้น

จอร์เจียผลิตไวน์ได้เกือบทั่วทั้งประเทศ แต่เขตที่ผลิตได้มากที่สุดถึง 70% ของผลผลิตก็คือ Kakheti ทางตะวันออกของประเทศซึ่งฉันได้ใช้เวลาไปเที่ยวเขตนี้มาสามวัน ไปที่ไหนก็จะเห็นโอ่งดินเต็มไปหมด ทั้งที่ยังใช้งานอยู่ในปัจจุบันและที่ขุดเจอเก่าแก่ตามซากปรักหักพังหรือในโบสถ์แล้วเอามาวางประดับไว้ บางโอ่งใหญ่ขนาดคนเข้าไปนอนกันอยู่ได้หลายคนสบายๆ ในเขตนี้มีการจัดทัวร์ชมและชิมไวน์กันมากมาย เรียกว่าเที่ยวทั้งอาทิตย์จะชิมไวน์กันอย่างเดียวเลยก็ได้โดยไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น จริงๆฉันไม่ใช่คอไวน์เลย จึงไม่ได้ไปทัวร์ไวน์ แต่อย่างที่บอกว่าเรื่องไวน์นี้มันเป็นเรื่องสำคัญของจอร์เจียไปเสียแล้ว ดังนั้นจึงขอชมและชิมเสียหน่อยไม่ให้เสียเที่ยว เราไปชิมไวน์ที่ wine cellar ของ Tsinandali Estate เขาผลิตเองมีปริมาณไม่มาก มีทั้งไวน์ขาวและไวน์แดง เมื่อได้ชิมเข้าไปอึกแรกก็ต้องตาลุกโต รสชาติมันนวลกลมกล่อมอย่างมากและหอมสุดๆ อร่อยเสียจนขนาดไม่ใช่คอไวน์ยังอดใจไม่ได้ต้องซื้อกลับติดมือมาหลายขวด และหลังจากนั้นกินข้าวทุกมื้อก็จะต้องขอสั่งมาแก้วหนึ่งตลอด ซึ่งผิดปกติวิสัยฉันอย่างมาก ยอมรับเลยว่าอร่อยจริง

ไวน์จอร์เจียนี้แบ่งประเภทเป็น Sweet, Semi-sweet, Dry, Semi-dry Fortified และ Sparkling ประเภทที่นิยมที่สุดก็ Semi-sweet ซึ่งฉันว่ามันหวานมาก ส่วนตัวจึงชอบ น้องสาวซึ่งเป็นคอไวน์ตัวจริงจะไม่ชอบ ต้องขอไปดื่ม Dry ตลอด ดังนั้นแนะนำว่าใครจะดื่มอาจจะต้องดูนิดหนึ่งว่าอาจจะหวานเกินกว่าปกติที่คุ้นเคย

ฉันมีคำถามว่า ในเมื่อไวน์จอร์เจียคุณภาพดีและมีกรรมวิธีที่แปลกไม่เหมือนใครแบบนี้ แล้วทำไมโลกถึงไม่รู้จักไวน์จอร์เจียมากกว่านี้ ได้คำตอบมาว่า อย่างแรกคือเรื่องของปริมาณการผลิต ในหนึ่งปีจอร์เจียผลิตไวน์ได้เพียงแค่ 16 ล้านขวด ในขณะที่ฝรั่งเศสผลิตได้ถึง 7 พันล้านขวด โถแล้วจะไปเทียบอะไรกับเขาได้ ซ้ำการส่งออกส่วนมากยังส่งอยู่แถวประเทศใกล้เคียงอีก ส่งออกปีละ 10 ล้านขวดไปอยู่ที่ยูเครนเสียแล้ว 7 ล้านขวด กินวนเวียนกันอยู่แถวนั้นนั่นเอง ไม่รู้ว่าเป็นเพราะการผลิตที่ต้องใส่โอ่งฝังดินแบบนี้หรือเปล่าจึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ได้ผลผลิตน้อย เอาเป็นว่าหลังจากที่ได้พิสูจน์มาแล้ว คนที่ไม่กินไวน์อย่างฉันยังติดใจ ดังนั้นแนะนำเลยว่าใครไปจะต้องดื่มเยอะๆให้คุ้มเลย ราคาก็ไม่แพงด้วย ส่วนประเภทของพันธุ์องุ่นที่มาทำไวน์นั้นมีมากมายเยอะแยะ ขอไม่พูดถึง ขอยกให้เซียนไวน์ตัวจริงไปเที่ยวแล้วมาเล่าให้ฟังดีกว่า ฉันบอกได้แค่ว่าให้ซื้อทัวร์ชิมไวน์ไปแคว้น Kakheti เลย อยู่สักอย่างน้อยสามวันชิมให้ทั่วเอาให้คุ้มเลยทีเดียว

จากเรื่องไวน์มาพูดเรื่องเครื่องดื่มอื่นกันบ้าง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำชาติอีกอย่างคือ Chacha เป็นวอดก้าที่ทำจากองุ่นที่เหลือจากการทำไวน์ อันนี้แนวฮาร์ดคอร์แบบฉันชอบ แต่มันแรงมากจริงๆขอบอก ได้ชิมแบบ 40 ดีกรียังร้อนวูบ เขาว่ามีถึง 70-80 ดีกรีเลย สงสัยว่าดื่มแบบนั้นปากจะติดไฟได้ไหมนั่น ได้ชิมแบบที่เขาเอามาผสมทำค็อกเทลแบบนี้จึงค่อยยังชั่วหน่อยและอร่อยถูกใจทีเดียว

สำหรับเครื่องดื่มที่ไม่มึนเมาก็มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนใคร น้ำผลไม้คั้นสดเช่นน้ำทับทิมมีขายริมทางทั่วไปทุกหนแห่ง หีบกันสดๆคล้ายกับตามรถเข็นบ้านเรา แต่ของเขาดูสะอาดน่ากินกว่ามาก ส่วนน้ำอัดลมนั้นคนจอร์เจียไม่ค่อยดื่มน้ำอัดลมแบบน้ำดำหรือยี่ห้ออเมริกัน เขาดื่มน้ำเลมอนเนด (ซึ่งไม่ได้ทำมาจากน้ำมะนาวเสียหน่อย) แต่ทำมาจากน้ำหวานอัดแก๊ซใส่รสชาติผลไม้ธรรมชาติเช่นเชอรี่ แพร์ หรือทารากอนที่ฉันว่าหอมๆและรสคล้ายชะเอม แปลกดี สุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือน้ำแร่ Borjomi จากเมืองชื่อเดียวกันนั่นเอง มีขายบรรจุขวดทั่วไป เราได้ไปรองจากก๊อกที่เมือง Borjomi ใส่ขวดไว้ดื่มด้วย เขาว่าสรรพคุณดีนัก เพราะมีแร่ธาตุมากมาย แก้ทุกโรคเกี่ยวกับเรื่องท้องไส้ แต่รสชาติมันเค็มมากเลย ดื่มเยอะไม่ไหว ส่วนน้องสาวที่ดื่มเข้าไปหมดขวดเล่าว่าวันรุ่งขึ้นระบบท้องการย่อยและเข้าห้องน้ำดีมากๆเลย

สุดท้ายเราเห็นคนจอร์เจียกาแฟต้มกาแฟแบบแปลกไม่เหมือนใคร เพราะเขาจะเอากาไปต้มโดยฝังในทรายแทนที่จะต้มในน้ำ อุปกรณ์คือจะมีทรายไว้ในถาดแล้วก็เอาหม้อทองเหลืองบรรจุกาแฟเล็กๆวางเรียงไปรอบๆในถาดทราย คนขายก็คอยคลุกเคล้าคนให้ทรายร้อนๆกระจายไปทั่วจนสุก อันนี้เรายืนดูเขาทำแต่ไม่ได้ซื้อกินเลยไม่รู้รสชาติเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าเป็นวิธีการชงกาแฟที่เก๋มากๆ

เรื่องความอร่อยของไวน์จากจอร์เจียนี้ก่อนไปฉันก็เคยได้ยินรู้อยู่ แต่สิ่งที่ไปค้นพบและปลื้มมากอย่างไม่คาดฝันก็คืออาหารจากประเทศเล็กๆที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักนี้เอง อย่างที่บอกว่าประเทศนี้ตั้งอยู่บนจุดต่อระหว่างหลากวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทั้งยุโรป เอเชีย เปอร์เชีย และรัสเซีย จึงมีส่วนผสมของวัฒนธรรมต่างๆรวมไปถึงวัฒนธรรมการกินที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใครเลย อาหารนั้นจะฝรั่งก็ไม่ใช่เอเชียก็ไม่เชิงมาดูกันว่าเขามีอะไรกินกันบ้าง

อย่างแรกที่ฉันได้กินในวันแรกที่ไปถึงเลยก็คือ Jonjoli salad ไปกินร้านอาหารออร์แกนิคของคนรุ่นใหม่ในเมืองที่ทำอาหารพื้นเมืองได้อร่อยมาก เขาเชียร์ให้ชิมจานนี้ บอกว่ามาไม่ถึงจอร์เจียแน่ถ้าไม่ได้ชิม Jonjoli มันคือดอกไม้ดอกเล็กๆเป็นพวงเอามาดองแล้วทำสลัด ทานแล้วเหมือนยำเลย เปรี้ยวนิดๆ เคี้ยวกรุบๆเหมือนยอดผัก อร่อยสดชื่นดีมาก รสชาติไม่เหมือนอะไรที่เคยทานมาก่อน

Jonjoli

จานหนึ่งซึ่งไปที่ไหนในประเทศก็เห็น เป็นของที่หากินง่ายที่สุด คือ Khachapuri คำว่า Puri แปลว่าขนมปัง คนที่นี่กินขนมปังกันเยอะมากกกกกก อันนี้ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมอาหารของตุรกีประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ว่าจะกินอาหารอะไรก็ต้องมีขนมปังร่วมด้วยเสมอ Khachapuri คือขนมปังอบกับชีส และมีหลายรูปแบบหลายหน้าตา แบบที่เห็นเยอะที่สุดก็คือที่เป็นแผ่นแป้งกลมแบนเหมือนพิซซ่าแทบไม่ผิดเพี้ยน อบมามีชีสอยู่บนหน้า และมีแบบที่มีชีสทั้งบนหน้าและไส้ในด้วย อร่อยเหมือนพิซซ่าที่ไม่ได้ใส่ซอสมะเขือเทศ และมีที่เป็นแบบไส้ต่างๆเช่นเนื้อหรือแกะบด และยังสามารถทำเป็นแบบที่ห่อเหมือนกะหรี่ปั๊บไส้ชีส อันนี้แทนที่ตัวแป้งจะเหมือนพิซซ่ากลับเหมือนแป้งครัวซองต์แทน

Khachapuri

แต่ที่ใครๆเห็นแล้วก็ต้องอยากลองก็คือที่เรียกว่า Acharuli khachapuri อันนี้หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูเชียว เขาเอาขนมปังมาปั้นทำเป็นรูปเหมือนเรือลำเล็กๆ ตรงกลางลำเรือกระหน่ำชีสลงไปพร้อมตอกไข่ดิบลงไปกับเนยอีกก้อนโต จะเสิร์ฟมาแบบร้อนจี๋เลย เวลาทานเราต้องเอาส้อมลงไปตีไข่คลุกกับชีสและเนยที่กำลังเดือดปุดๆให้ผสมกัน แล้วดึงเอาขนมปังแหลมๆตรงที่เป็นเหมือนหัวเรือท้ายเรือจิ้มกิน เหมือนกับกิน cheese dip เลย อันนี้อร่อยมากและอ้วนมากด้วย ส่วนชีสที่ใส่ก็จะเป็นชีสของจอร์เจียโดยเฉพาะเรียกว่า Sulguni เป็นก้อนสีขาวเนื้อคล้ายมอสซาเรลล่า

Acharuli khachapuri
บรรดาชีสและ Sulguni

อาหารประจำชาติอีกจานหนึ่งซึ่งเด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดีและเห็นขายเยอะมากๆคือ Khinkali หน้าตามองดูแล้วนึกว่าโมโม่ของทิเบต แต่พอกินแล้วกลับเหมือนเสี่ยวหลงเปาเพราะมันมีน้ำซุปร้อนๆอยู่ข้างในเหมือนกัน ต่างกันเพียงว่าคินคาลีชิ้นหนึ่งจะใหญ่มากเกือบเท่าลูกซาลาเปาและเนื้อแป้งค่อนข้างหนา อันนี้มีวิธีกินตามแบบจอร์เจียโดยเฉพาะอีกเช่นกัน คือให้ใช้มือหยิบตรงหัวจุกหงายขึ้นแล้วกัดแป้งตรงก้นให้เป็นรูเล็กๆ ดูดน้ำซุปกินให้หมดแล้วค่อยกินตัวแป้งกับไส้หมูสับ ส่วนแป้งหนาๆที่ใช้จับนั้นเขาไม่กินกัน ทิ้งไปได้เลย

ถัดมา Tolma เป็นเนื้อสับผสมข้าวแล้วนำมาห่อด้วยใบองุ่นเป็นชิ้นเล็กๆประมาณชิ้นละสองคำ อันนี้เหมือนกับที่มีในตุรกีและกรีซ แต่ที่จอร์เจียมักจะราดบนหน้าด้วย Matsoni หรือโยเกิร์ตแบบจอร์เจียซึ่งไม่เหมือนโยเกิร์ตทั่วไป พูดถึง Matsoni แล้วต้องบอกว่าอร่อยมากๆ ฉันกินเป็นอาหารเช้าแทบทุกวัน เนื้อมันจะข้นและออกเปรี้ยวคล้ายกรีกโยเกิร์ตแต่ความข้นจะน้อยกว่านิดหนึ่ง นอกจากกินเปล่าๆกับแยมพื้นเมืองหรือลูกมะเดื่อแช่อิ่มแล้วยังสามารถนำมาทำอาหารได้สารพัด แต่มีข้อควรรู้ก็คือ ถ้าหากอยากกินเราจะต้องไปถามหา “มัทโซนี่” ถ้าเรียกโยเกิร์ตจะไม่ได้กินอันนี้ แต่จะได้โยเกิร์ตสำเร็จรูปมาแทน

จานประจำชาติอีกอย่างหนึ่งคือสลัดแตงกวากับมะเขือเทศ มันแลดูง่ายเกินไปมากๆจนไม่อยากจะสั่งกิน แต่กลับเป็นจานที่ร้านอาหารทุกร้านต้องมี ฉันได้ไปกินที่ร้าน Barbarestan ร้านอาหารพื้นเมืองในเมืองทบิลิซี่ซึ่งอร่อยมากๆทุกอย่าง ตอนแรกเราจะไม่ยอมสั่งแต่คนเสิร์ฟเคี่ยวเข็ญจะให้สั่งให้ได้ก็เลยลองดู ปรากฏว่ามันอร่อยสุดๆอย่างไม่น่าเชื่อ เขาใช้น้ำมันอะไรสักอย่างคล้ายน้ำมันงาแทนน้ำมันมะกอก บางที่จะใส่น้ำสลัดถั่ววอลนัทมา (อาหารจอร์เจียใช้วอลนัทเยอะมากๆ) หลังจากนั้นเราก็เลยสั่งจานนี้บ่อยๆเพราะกินแล้วสดชื่น และได้มีผักมาตัดเนื้อสัตว์ในจานอื่นด้วย

สลัดแตงกวากับมะเขือเทศ

มีสลัดอีกจานหนึ่งซึ่งอาจคล้ายอาหารฝรั่งดูหน่อย เด็กๆอาจจะกินได้ง่ายหากเริ่มเบื่ออาหารพื้นเมือง คือ Qatmis Salati เป็นเนื้ออกไก่ฉีกคลุกมายองเนสวางมาบนแตงกวาและผักกาดหอม แต่ฉันว่าอันนี้มันธรรมดาไปนิดและผักน้อยไปหน่อย

Qatmis Salati จานล่าง

ผักอย่างหนึ่งที่ใช้ปรุงอาหารเยอะคือมะเขือม่วง จานยอดนิยมที่มีมะเขือเป็นพระเอกคือ Badrijai Nigvzit เป็นมะเขือม้วนห่อเอาครีมซอสวอลนัทไว้ข้างใน อันนี้ฉันอยากกินมากเพราะรู้ว่าต้องชอบแน่ๆ แต่ต้องอดเพราะกินวอลนัทไม่ได้ เสียดายจัง

Badrijai Nigvzit  จานบน

ใครคิดถึงอาหารไทยประเภทน้ำแกงร้อนๆแก้เลี่ยนให้สั่ง Chikhirtma มันคือซุปใสไก่ซึ่งเหมือนข้าวต้มใส่ไก่ฉีกนั่นเอง

อาหารอีกตระกูลหนึ่งซึ่งไม่คาดคิดว่าอาหารชาติจอร์เจียจะมาในแนวนี้เยอะพอสมควร คืออาหารตระกูลต้มตุ๋น ไม่ได้พูดเล่น ฉันหมายถึงอาหารประเภทเนื้อๆที่ตุ๋นจนเปื่อยมากับน้ำขลุกขลิกเหมือนเนื้อตุ๋น จานแรกที่ได้ชิมแล้วต้องบอกว่าถูกปากคนไทยอย่างเราเลยคือ Chashushuli คือเนื้อลูกวัวตุ๋นจนเปื่อย จะว่าคล้ายเนื้อตุ๋นของไทยก็ไม่ใช่เพราะเครื่องเทศที่ใช้เป็นกลิ่นฝรั่ง เขาเน้นใส่ทารากอนเป็นหลักและมีมะเขือเทศต้มจนเละเป็นซอสข้นๆอยู่ด้วย ดังนั้นฉันว่ามันเหมือนกับลูกครึ่งของเนื้อตุ๋นไทยกับกูลาชของฮังการีมากกว่า นับว่าเป็นจานที่อร่อยมากทีเดียว แต่ประเภทต้มตุ๋นที่ฉันชอบมากที่สุดก็คือ Chakapuli เป็นแกะตุ๋นแบบมีน้ำมาขลุกขลิก สิ่งที่ทำให้อร่อยและมีรสชาติเฉพาะตัวก็คือลูกพลัมสีเขียวกลมเล็กที่ตุ๋นมาด้วย ให้รสชาติเปรี้ยวปะแล่มๆตัดกับความเลี่ยนดีมาก และยังหอมเครื่องเทศทารากอนฟุ้งอีกด้วย จานนี้ถือเป็นจานโปรดสุดๆอีกจานหนึ่งของเรา ที่โปรดไม่น้อยกว่ากันเลยคือ Chkmeruli ไก่ทอดแล้วไปอบในนมกับกระเทียม ใครชอบทานอาหารมีครีมข้นๆเยอะๆบอกเลยเสร็จจานนี้แน่ ฉันชอบจนกลับมาลองหัดทำดู ไม่ยากอย่างที่คิดและรสชาติใช้ได้เลย

ใครชอบปลาอย่าลืมสั่งปลาเทร้าท์ที่จับจากแม่น้ำ โดยเฉพาะทางใต้ของประเทศ จะสั่งทอดทั้งตัวมาเฉยๆหรือจะทานแบบจอร์เจียก็ต้องราดซอสทับทิมสีแดงๆมาด้วย

ส่วนขนมขบเคี้ยวทานเล่นที่เห็นทุกหนทุกแห่งคือ Churchkhela ที่ดูเหมือนกุนเชียงห้อยอยู่นั่นเอง มันคือถั่วต่างๆ ที่นิยมคือวอลนัท หรือเฮเซิลนัท เอามาร้อยเป็นเส้นยาวแล้วชุบในน้ำองุ่นที่เคี่ยวกับแป้งจนข้นร้อนๆ แขวนทิ้งไว้ให้เย็นมันจะแข็งตัวเหมือนน้ำตาลรสองุ่นไส้ถั่ว เวลากินก็ตัดออกมาเป็นท่อนๆพอดีคำ กัดกินกันได้ทั้งวัน ขนมที่นิยมอีกอย่างคือลูกพลับตากแห้ง คล้ายของจีนแต่รสชาติไม่เหมือนกันทีเดียว ของจอร์เจียจะแห้งและข้นกว่าจนเกือบคล้ายผลไม้กวน อีกอย่างเขาว่าจริงๆแล้วมาจากรัสเซียคือ Medok มันคือเค้กน้ำผึ้งเป็นเค้กและครีมสลับชั้นกันบางๆหลายชั้นหน้าตาเหมือนเครปเค้ก หวานหอมมาก เพราะน้ำผึ้งที่นี่อร่อยจริง ใครไม่กินหวานอาจว่าหวานเกิน แต่ฉันชอบ แต่ที่ชอบที่สุดของที่สุดและหากินไม่ง่ายทั่วไปคือไอศกรีมรสไวน์ สีม่วงแปร๋นๆ อร่อยมาก ไม่มีเมาแน่นอน

ไปจอร์เจีย 10วัน ได้ชิมมาเยอะมาก เรียกว่ากินอาหารจอร์เจียแทบทุกมื้อจริงๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายจานที่อยากลอง ต้องบอกว่าอาหารชาตินี้อร่อยถูกปากเกินคาดหมายอย่างมาก ขอยกให้เป็นหนึ่งใน”กินเหนือฟ้า”เลยทีเดียว แม้หลายคนที่เคยไปจะบอกกินอะไรไม่ได้ เรื่องของรสปากนี่ตัดสินกันไม่ได้ เพราะเคยชินไม่เหมือนกัน แต่สำหรับฉันนั้นหวังว่าอาหารจอร์เจียจะเป็นที่นิยมให้มีเห็นในนอกประเทศมากขึ้นในไม่นานนี้และหวังว่าจะหาซื้อไวน์จอร์เจียได้ง่ายกว่านี้ จะได้มีโอกาสได้กินและดื่มระลึกถึงทริปดีๆอย่างมีความสุขที่จอร์เจีย

Jonjoli ปลา ซุปใสไก่

NO COMMENTS