วันนี้เป็นวันแห่งการเดินข้ามสะพานแขวนและ Hiking! วันแห่ง Adventure ที่แท้จริง
เรามีแผนเดินบนเขาวันนี้เป็นเวลา 4 ชั่วโมง แต่ก่อนจะเริ่มเดินต้องข้ามสะพานแขวนแห่งแรก คือ Hussaini Suspension Bridge เสียก่อน เพราะเราจะต้องไปเดินอีกฝั่งของแม่น้ำ Hunza สะพานแขวนแห่งนี้มีความยาวถึง 250 เมตร พื้นเป็นแผ่นไม้กระดานวางบนลวดสลิง โดยไม่ได้วางชิดกัน แต่ละแผ่นเว้นห่างๆ มองทะลุลงไปเห็นแม่น้ำข้างล่างอยู่ลิบลิ่วเหมือนแกล้งให้หวาดเสียวเล่นอย่างนั้นแหละ แถมยังแกว่งโยนอีก ฉันต้องจับลวดที่ราวไว้แน่นแล้วเดินไปทีละแผ่นๆ อย่างตั้งใจมากๆ
ข้ามไปแล้วก็เดินเลาะไปตามทางริมผาสูงสักพัก แล้ววกเข้าสู่ทุ่งและสวนที่ชาวบ้านมาปลูกแอปเปิ้ล ข้าวสาลี และเก็บไม้ไปทำฟืน ไกด์ชวนเก็บแอปเปิ้ลกินจากต้น บอกว่าเป็นสวนของญาติเขาเอง โอ้โหฉันไม่เคยกินแอปเปิ้ลเขียวอะไรอร่อยขนาดนี้ กรอบมากๆ และหวานกำลังดี ที่สำคัญออร์แกนิคจริงๆ เพราะเขาปลูกแบบธรรมชาติแท้ ไม่มีการใส่ปุ๋ยหรือกระบวนการใดๆ
ไม่น่าเชื่อว่าบนภูเขาสูงลิ่วที่เรามองมาจาก Karakoram Highway เมื่อวานจะมีทุ่งมีสวนซุกอยู่ด้านใน เพราะมองไปโดยรอบมีแต่ภูเขาสูงตระหง่านเตียนโล่ง สำหรับเส้นทางเดินเขาเส้นนี้ พิเศษมากตรงที่เรามองเห็นยอดเขา Passu Cones หรือบางคนเรียก Cathedral Spires ตลอดทั้ง 4 ชั่วโมงที่เดิน อิ่มจุกๆ ไปเลย และตอนชั่วโมงสุดท้ายยังเห็น Passu Glacier ที่เราเดินไปชมมาเมื่อวานโผล่มาให้เห็นอีกด้วย สวยมาก
สุดท้ายเราก็เดินกลับออกมาสู่ริมแม่น้ำ Hunza อีก นั่นแปลว่าเราจะต้องข้ามสะพานแขวนอีกแห่งกลับไปฝั่งเดิมที่มาอย่างไม่มีทางเลือก สะพานแขวนนี้คือ Passu Suspension Bridge ที่ยาวกว่าอันแรกและดูโหดกว่าด้วย แผ่นไม้แคบกว่าและวางห่างกันกว่า คนขาสั้นอย่างฉันต้องกลั้นใจหลายครั้งเลย แถมยังโยนไปมามากกว่าด้วย ฉันข้ามมาได้ด้วยการทำสมาธิเลย ตั้งมั่นเอาใจใส่ไว้ที่เท้า แต่ละก้าวมีสติไม่ต่างจากการเดินจงกรมเลย มองแค่แผ่นไม้เฉพาะแผ่นที่จะเหยียบ ไม่มองพื้นน้ำด้านล่าง ไม่มองไกลออกไปข้างหน้าเพื่อปรุงแต่งใจให้ท้อเพราะอีกไกล อยู่กับปัจจุบันล้วนๆ โอ๊ยพอถึงอีกฝั่งได้ดีใจกระโดดตัวลอยเลย
พอตอนบ่ายไกด์พาไปสะพานแขวนอีกแห่งคือ Rainbow Bridge เพราะทาสีสดใสเป็นสีรุ้ง อันที่จริงสะพานนี้มีชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวกว่าเพราะจอดรถปุ๊บก็เดินขึ้นสะพานได้เลย และสั้นๆ ไม่สูง เดินข้ามง่าย แต่แหม หลังจากที่เราผ่านของจริงมาสองสะพานแล้ว Rainbow Bridge กลายเป็นอนุบาลไปเลย แถมทาสีอย่างกับรั้วโรงเรียนอนุบาลด้วย
เส้นทางเดินเขาวันนี้จะว่าไปแล้วไม่ยากเลย แต่ต้องจิตแข็งผ่านสะพานแขวนทั้ง 2 ให้ได้ และต้องเดิน 4 ชั่วโมงไหว หากใครสามารถ ฉันแนะนำเป็นอย่างยิ่งเลย สวยขาดใจจริงๆ สวยจนบางคนบางสำนักมอบให้เป็นวิวที่สวยที่สุดในโลกนั่นเลย
วันต่อมาเราไปชม Hopper Valley และ Nagar Valley กัน โดยจุดหมายหลักก็คือการไปชม Hopper Glacier ธารน้ำแข็งที่เป็นสีดำเนื่องจากโดนฝุ่นหินสีดำปกคลุมบนน้ำแข็ง ทางไปเป็นถนนเลาะไปบนไหล่เขา บางช่วงแคบจนรถแทบสวนกันไม่ได้
เมื่อไปถึงแล้วมีจุดชมวิวด้านบนหลายแห่ง เห็นธารน้ำแข็งสีดำสวยแปลกตา แต่สำหรับเที่ยวเหนือฟ้าแล้วเราจะต้องลงไปให้ถึงตัวธารน้ำแข็ง ดูเฉยๆ ข้างบนมันไม่พอ เราจึงเดินไต่ลงไปจากหน้าผาด้านบน เห็นเหมือนจะใกล้แค่นี้แต่ใช้เวลาไปกลับประมาณชั่วโมงครึ่งเพราะทางชันใช้ได้เลย เมื่อไปถึงตัวธารน้ำแข็งที่เกือบจะเหยียบได้อยู่แล้ว ไกด์ก็บอกว่าทางเดินโดนตัด เนื่องจากธารน้ำแข็งนี้ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทางเดินเดิมจึงถูกน้ำแข็งถล่มทับ ไกด์ตัดสินใจว่าให้หยุดไม่ไปต่อเพื่อความปลอดภัย แต่กระนั้นจุดที่เรายืนอยู่ก็นับว่าเป็นขอบของธารน้ำแข็งแล้ว เรายังรู้สึกได้เลยว่าน้ำแข็งมีการเคลื่อนตัวและละลายอยู่ มีเสียงน้ำที่ละลายไหลจ๊อกๆ ให้ได้ยิน เราเดินสำรวจอยู่บนสันขอบธารน้ำแข็งสักพัก ถ่ายรูปจนฉ่ำใจแล้วจึงรีบไต่เขากลับขึ้นด้านบน ชักจะกลัวน้ำแข็งมันจะถล่มขึ้นมา!
กลางวันกินอาหารที่ร้านในหมู่บ้านของ Nagar แล้ว ก็เดินเล่นชมตัวหมู่บ้านซึ่งเก่าแก่อยู่มานาน และชาวบ้านยังใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ คือเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูก ช่วงนี้เขาเก็บเกี่ยวมันฝรั่งกันเยอะแยะ เป็นวิถีชีวิตชนบทที่ดำเนินมาแบบนี้ช้านานไม่เปลี่ยนแปลง
จากนั้นก็ขับรถลุยถนนลูกรังต่อไปเพื่อไปชม Nagar Fort ซึ่งเป็นของพระราชาหรือ Mir ของ Nagar ซึ่งไม่ได้มีบทบาทหรือมีตำแหน่งเป็นผู้ปกครองอะไรแล้ว แต่ยังมีทรัพย์สินตกทอดมาอยู่หลายแห่ง อันที่จริงตรงนี้ก็ไม่มีอะไรให้ชมมาก ที่น่าสนใจคือมัสยิดโบราณที่ปล่อยให้ผุพัง แต่ก็ยังเห็นได้ว่าเคยสวยงามมากทีเดียว
ตกเย็นเราขับรถจาก Nagar Valley ออกมาเพื่อจะไปพักที่เมือง Gilgit พอผ่าน Karimabad ก็ได้ดีใจมากๆ เพราะยอดเขา Lady’s Finger ที่ซ่อนตัวอยู่หลังเมฆไม่ยอมให้เราเห็นมา 3 วันนั้น เธอโผล่พ้นเมฆออกมาให้เราชมโฉม รูปร่างเธอนั้นแหลมเรียวเฟี้ยวทีเดียว อยู่สูงเสียดฟ้า และตกกระทบรับแสงแดดสุดท้ายเป็นสีทอง งามวับจับตา เป็นการบอกลา Hunza Valley ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดก่อนที่เราจะออกเดินทางต่อไป