ตอนที่พักที่ Karimabad นั้น มี่สถานที่หนึ่งที่เราไปเจอกันเอง ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมทัวร์ เหตุเพราะเราขับรถผ่านป้ายหนึ่งริมถนนหลายครั้ง เขียนว่า “1000 Years Old Historic Ganish Settlement “ ป้ายนั้นปักอยู่ริมคูน้ำข้างถนน ดูมอมแมม ถนนตรงนั้นก็สกปรกไปด้วยกองขยะ รกไปด้วยกองไม้ มองเข้าไปตามทางที่ลูกศรชี้ก็เห็นแต่ตรอกเล็กๆ ถนนเป็นดินลูกรัง เหมือนทางเข้าบ้านของชาวบ้านที่น่าจะแออัดกันอยู่ข้างใน ไม่น่าจะมีอะไรให้เที่ยวชมเลย แต่คำบรรยายด้านล่างของป้ายที่ว่า ได้รับรางวัลจาก UNESCO ของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมมาแล้วถึงสองครั้ง ทำให้เราต้องบอกไกด์ในที่สุดว่า เราอยากจะเข้าไปเที่ยวที่นี่ ช่วยพาไปหน่อยนะค้า

นี่คือ Ganish หมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุดในเขต Hunza ของปากีสถาน มีอายุถึง 1,000 ปี และยังมีคนอาศัยอยู่ในสภาพแบบเดิมๆ จนถึงทุกวันนี้!

พอเดินเข้าตรอกไปก็พบกับบ่อน้ำอยู่ด้านหน้า รอบๆ เป็นพื้นทางเดินปูด้วยหิน มีกำแพงหินผสมปูนของบ้านเรือนเลียบติดอีกด้านของทางเดิน มองจากตรงนี้พอจะเดาได้ว่าบรรดาบ้านเรือนโบราณต้องอยู่หลังกำแพงนั้นแน่ๆ แต่ยังเห็นไม่ถนัดว่าจะน่าตื่นเต้นประการใด แล้วก็มีคุณตาคนหนึ่งมาคุยกับไกด์เป็นภาษาท้องถิ่นอยู่นาน แล้วไกด์ก็บอกว่า จะเข้าไปดูได้ต้องจ่ายเงินค่าเข้า คุณตาคนนี้เป็นไกด์ผู้นำชมของที่นี่ เขาก็มีบ้านอยู่ในนี้ เราก็ถามว่า ไกด์พูดอังกฤษได้หรือเปล่าเพราะกลัวว่าจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วจะไม่สนุก เท่านั้นแหละคุณตาเปลี่ยนช่องเป็นเอฟเอ็มทันทีด้วยภาษาอังกฤษเป๊ะพร้อมทำหน้าเชิ่ดๆ ประมาณว่าฉันพูดได้เป๊ะย่ะแปลกใจไหมล่ะ เราจึงตกลงให้คุณตาพาชมหมู่บ้าน Ganish

คุณตาเริ่มจากอธิบายว่านี่คือบ่อน้ำสำรองยามจำเป็น เพราะทั้งหมู่บ้านสร้างอยู่ในกำแพงประมาณป้อมปราการ สามารถปิดกั้นทั้งหมู่บ้านจากการรุกรานภายนอก แล้วพาเราเดินมุดเข้าไปทางประตูขนาดเล็กที่อยู่สุดปลายกำแพง พอเข้าไปแล้วแกก็โชว์ปิดประตูลงกลอนให้ดูว่าคนภายนอกจะบุกเข้ามาไม่ได้แน่ ทั้งหมู่บ้านปลอดภัยจากการรุกรานมานานเพราะประตูนี้ (เหรอคะตา) แต่กลอนที่เห็นนี่ทำขึ้นใหม่ด้วยไม้ที่เบาเพราะแกไปผ่าตัดหัวใจมา ลงกลอนดั้งเดิมที่เป็นดุ้นเหล็กไม่ไหวแล้ว

จากนั้นแกก็พาเดินชมอาคารทั้งหลายในหมู่บ้าน มีมัสยิดตั้ง 7 แห่ง แกอนุญาตให้เราเข้าไปดูด้วย ห้องที่ใช้สวดมนตร์เล็กมาก มีพรมปูอยู่สามที่เท่านั้น แต่ชาวบ้านยังใช้งานอยู่จริง บ้านมี 40 กว่าหลัง ระหว่างแต่ละบ้านเป็นทางเดินลัดเลาะไป ค่อนข้างสกปรกเพราะใช้เดินร่วมกันทั้งคนทั้งลาทั้งม้า จึงมีสิ่งปฏิกูลบนพื้นให้เราต้องคอยเล็งหลบตลอด บางทีก็ต้องเดินลอดไปใต้บ้านที่เชื่อมต่อเป็นอาคารเดียวกันชั้นบน ส่วนชั้นล่างเป็นที่อยู่ของสัตว์และเก็บของ สถาปัตยกรรมทั้งบ้านและมัสยิดเป็นงานไม้บนฐานหินและปูน ส่วนงานไม้นี่ประมาณงานคราฟต์มือเลย คือมันจะเบี้ยวๆ บูดๆ บ้าง ไม่สมมาตรเป๊ะ แต่แกะฉลุลวดลายซึ่งมีความหมายหมด ดอกบัวบ้างอะไรบ้าง ฉันก็ลืม แต่ตอนฟังคุณตาเล่านี่เพลินเลย เสาไม้ก็เดิมๆ สวยมาก

ในหมู่บ้านนี่มีหอคอยด้วยถึง 4 หอคอย แต่เราไปดูหอเดียว ที่ฐานหอคอยมีช่องหน้าต่างที่เอาอะไรมาปิดตายอยู่ ปรากฎนั่นคือประตูทางเข้าหอคอย คุณตาทำท่าให้ดูว่าต้องเหยียบบันไดหินปีนเข้าไป ทำไมต้องทำให้ยากไม่รู้ จากนั้นก็พาเราเดินวกวนกลับออกมาที่บ่อน้ำด้านนอกอีกทางหนึ่ง แกบอกว่า ถนนหินที่เราเดินออกมานั้น คือส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมโบราณที่คนเดินทางผ่านมาหมู่บ้านนี้นั่นเลย

ฉันชอบมากพวกสถานที่โบราณในประวัติศาสตร์แบบนี้  แถมยังสภาพเดิมๆ และคนอาศัยอยู่ต่อเนื่องมาเป็นพันปีแบบนี้ จึงสงสัยว่าทำไมไม่มีนักท่องเที่ยวเลย ถามไกด์ว่าของดีแบบนี้ทำไมไม่ใส่ในโปรแกรมพาคนมา เขาตอบว่ามันไม่สะอาด ไม่น่าเที่ยว คุณตาก็เก็บเงินค่าเข้าแต่ไม่มีใบเสร็จ ท่าทางเข้ากระเป๋าตัวเองแหละไม่เข้ารัฐหรอก ท่าทางเขาไม่ชอบใจคุณตา ว่าแกมีบ้านอาศัยอยู่ที่นั่นและเป็นคนมีอาวุโส แกก็ทำตามอำเภอใจ จะพาใครชมแล้วเก็บเงินก็ได้ จะปิดประตูหมู่บ้านไม่ให้ใครเข้าก็ได้ และเขาว่าเขาบอกคุณตาว่าควรจัดการให้สะอาดและมีระบบระเบียบกว่านี้ จะได้เป็นหน้าเป็นตาสถานท่องเที่ยวให้นักเที่ยวมา (สงสัยที่คุยภาษาถิ่นกันนานคือเรื่องนี้) อันนี้ฉันก็ไม่รู้เรื่องภายในของประเทศเขา แต่ที่แน่ๆ ฉันชอบหมู่บ้าน Ganish นี้มาก และหวังว่าเขาจะหาสมดุลย์เจอระหว่างการอนุรักษ์สถานที่ในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพันปี กับการแย้มประตูให้โลกได้เรียนรู้และชื่นชม

NO COMMENTS