Taxila หรือที่คนไทยชอบออกเสียงว่าเมืองตักศิลานี้ เป็นเมืองเก่าแก่อายุนับ 1000 ปีทีเดียว ชื่อเสียงที่คนส่วนมากรู้จักก็น่าจะในฐานะที่เป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อเล็กซานเดอร์มหาราชก็เคยมายึดอำนาจที่เมืองนี้
ประวัติศาสตร์เมืองนี้เก่าแก่ยาวนานเล่าไม่ไหวทีเดียว และเปลี่ยนมือได้รับอิทธิพลมาจากหลายวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นกรีก อินโดอารยัน และศาสนาพุทธ ใครไปเที่ยวเมืองนี้มักจะเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง แต่ฉันไม่ได้เข้าไป ด้วยเวลาจำกัดเราจึงเลือกที่จะไปชมโบราณสถานของจริงซึ่งเป็นมรดกโลกโดย UNESCO มากกว่า ที่นี่มีมรดกโลกถึง 18 แห่งทีเดียว เราได้ไปเยี่ยมชมสองแห่งคือ Dharmarajika ซึ่งเป็นโบราณสถานทางศาสนาพุทธ เนื่องจากพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้สร้างและนำพระบรมมาสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาบรรจุอยู่ที่นี่ ปัจจุบันมีซากสถูปทรงกลมและพระพุทธรูปที่ปรักหักพังอยู่ อีกแห่งที่เราไปคือ Sirkap ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในป้อมปราการ ปัจจุบันเขาบูรณะขึ้นมาทำให้เราเห็นฐานรากของเมืองซึ่งตีเป็นตารางอย่างเป็นระเบียบ มีถนนผ่ากลางเมืองเป็นเส้นตรง สองฝั่งเป็นร้านค้าและบ้านเรือน มีสถูป วัด ที่ฉันชอบคือสถูปที่มีรูปสลักของนกอินทรีสองหัวหรือ Double-Headed Eagle Stupa ตรงฐานของสถูปมีความแปลกคือมีทั้งดีไซน์ของกรีกและฮินดูอยู่ด้วยกัน แถมของกรีกยังมีเสาครบทั้งสามแบบ Doric, Ionic, Corinthian อยู่ในสถูปเดียว เรียกว่าดีไซน์ผสมผสานโดยแท้
และอีกแห่งที่ฉันชอบคือ Apsidal Temple เป็นซากของวัดที่มีห้องเป็นทรงกลมอันเป็นที่มาของชื่อ ดูจากซากที่เหลือแล้วแลดูแปลกทีเดียว สถานที่แห่งนี้เป็นวัดของศาสนาพุทธและเป็นอาคารโบราณสถานที่ใหญ่ที่สุดใน Sirkap
โบราณสถานทั้งสองแห่งนี้ ถ้าจะขุดต่อไปก็น่าจะยังพบอะไรอยู่ใต้ดินอีกมากมายที่ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ และสิ่งต่างๆที่เขาขุดขึ้นมาได้แล้วนั้น พวกข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ก็ได้นำไปจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ คงต้องเก็บเอาไว้ครั้งหน้าถ้าได้มาอีก
จากนั้นเรามุ่งหน้ากลับเข้าสู่เมือง จึงขอแวะที่ Rawalpindi อันนับเป็นเมืองฝาแฝดของ Islamabad เมืองหลวงของประเทศปากีสถาน เนื่องจากอยู่ติดกันเลยประมาณเหมือนกรุงเทพและธนบุรี เมืองนี้มีความหนาแน่นของพลเมืองเป็นอันดับ 4 ของปากีสถานด้วยจำนวนคน 2 ล้านคน ที่น่าสนใจคือเป็นเมืองที่เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารนายกรัฐมนตรีถึงสองคนคือ Liaquat Ali Khan และ Benazir Bhutto
ด้วยเวลาที่มีจำกัด สถานที่แห่งเดียวที่ฉันเลือกไปชมของ Rawalpindi คือตลาด หรือ Bazaar ของเมือง เพราะขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายเข้มข้น ตลาดเต็มไปด้วยร้านค้าที่แบ่งโซนตามประเภทสินค้าที่ขาย ทั้งร้านตึกแถวที่อยู่ริมถนนและร้านที่อยู่ลึกเข้าไปในตลาด ฉันเดินเข้าไปชมโซนที่ขายเครื่องประดับเครื่องแต่งตัวสำหรับงานแต่งงานมากกว่าส่วนอื่น สาเหตุก็เพราะความเฉอะแฉะของแผนกนี้จะน้อยกว่าแผนกที่ขายอาหารสดหรือเนื้อสัตว์ แต่ช้อปปิ้งนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของเรา สาเหตุที่ฉันมาชมตลาดก็เพราะอยากจะมาดูสถาปัตยกรรมตึกเก่าที่อยู่โดยรอบ ไม่ว่าเดินไปถนนไหน หากแหงนคอขึ้นดูชั้นสองก็จะต้องเห็นอาคารโบราณที่ถูกละทิ้งให้ผุพังหรือเสื่อมโทรมไม่ใช้งาน ทั้งๆ ที่ยังมองเห็นความงามของงานฝีมือในอดีตอยู่น่าเสียดายมากๆ ฉันเดินวนถ่ายรูปอาคารเหล่านี้ไปทั่วแทบทุกตึกที่มองเห็น ไกด์คงจะงงว่า คนไทยคนนี้ทำไมไม่ช้อปปิ้งเลย แต่มาเดินดูตึกพังๆ แล้วก็กรี๊ดกร๊าดตื่นเต้นถ่ายรูปเยอะแยะอยู่นั่น ก็ตึกเขาสวยจริงๆ และมันเป็นความคลั่งไคล้ในสถาปัตยกรรมของฉัน สรุปว่า มาตลาด Rawalpindi คือมาชมสถาปัตยกรรมและอารยะ หาใช่ช้อปปิ้งใดๆ ไม่ เที่ยวเหนือฟ้าก็เป็นเช่นนี้เอง
สุดท้ายท้ายสุด ก่อนที่เราจะไปกินข้าวเย็นและขึ้นเครื่องกลับนั้น เราได้ขับรถวนชมเมืองหลวง Islamabad และชมสถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งของปากีสถาน นั่นก็คือมัสยิด Faisal Mosque อันนับว่าใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกทีเดียว รองรับคนได้ถึงหนึ่งหมื่นคน และได้ทุนสร้างมาจากกษัตริย์ไฟซาลของซาอุดิอาระเบีย (จึงเป็นที่มาของชื่อ) ดีไซน์ของมัสยิดนี้เป็นแบบสมัยใหม่ เข้ากับยุคใหม่ให้คนมางานได้จริงในปัจจุบัน นับว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สวยงามและชาวปากีสถานภูมิใจ
เป็นอันว่าเราก็ได้ปิดทริปปากีสถานอย่างสมบูรณ์ที่เมืองหลวงอิสลามาบัดนี้ และฉันก็ตั้งใจว่าจะกลับมาปากีสถานอีก เพื่อเจาะชมทางตอนกลางของประเทศและทางใต้ติดทะเล เพื่อดื่มด่ำซึมซับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศที่เข้มข้นแห่งนี้ ฉันไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ระหว่างความสวยงามทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม อะไรจะชนะเลิศกว่ากันสำหรับปากีสถาน แต่ที่แน่ๆ ประเทศนี้มีดีเหนือกว่าที่ใครๆ รับรู้มากนัก เป็นประเทศที่ Underrated อย่างแท้จริง และนักเดินทางตัวจริงสมควรที่จะต้องมาเยือนสักครั้งในชีวิต