เมื่อปี 2013 เนลสัน แมนเดล่าผู้นำที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกได้จากไปอย่างสงบ ข่าวนี้ได้ทำให้ฉันหวนนึกไปถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา 30 กว่าปีแล้ว แม้เหตุการณ์ที่จะเล่าวันนี้ไม่ใช่หัวข้อใหญ่ระดับโลกประมาณเสรีประชาธิปไตยหรือการต้านการเหยียดสีผิว แต่มันก็มีผลทางใจและเป็นความทรงจำดีๆที่ไม่เคยลืมของผู้หญิงคนหนึ่ง
ปี 1988 ระหว่างปิดเทอมมหาวิทยาลัยปีหนึ่งขึ้นปีสอง ฉันได้ไปเรียนภาษาอังกฤษภาคฤดูร้อนที่เมืองออกซ์ฟอร์ดประเทศอังกฤษ ช่วงวัยรุ่นฉันฟังเพลงฝรั่งเยอะมากและติดตามเอาจริงเอาจัง ยุค 80s คือยุคที่เพลงป็อปเบ่งบานและสวยงามอย่างไม่มียุคใดเหมือน โดยเฉพาะป๊อปฝั่งอังกฤษนั้นเฟื่องฟูเสนาะหูอย่างที่สุด การที่ได้ไปอยู่อังกฤษในช่วงกลางศตวรรษ 80s นั้นจึงเป็นความสุขและเป็นโชคดีที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของฉัน ที่ได้ซึมซับดนตรีคุณภาพและเป็นพื้นฐานที่ติดตัวมาตลอด
และโชคสองชั้นที่ได้มาในฤดูร้อนปี 1988 นั้นก็คือการได้ไปชมคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในโลกที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้จนทุกวันนี้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ตอนนั้นนักร้องโปรดในใจที่ฉันคลั่งไคล้จะเป็นจะตายคือ Bryan Adams จากแคนาดา สมัยนั้นเมืองไทยหาคาสเซ็ต (ค่ะ เรายังฟังเทปคาสเซ็ตอยู่เลยตอนนั้น) และสินค้าต่างๆเกี่ยวกับศิลปินต่างชาติที่มีแฟนกลุ่มเฉพาะอย่างไบรอันยากมากๆ ฉันกว้านซื้อสะสมเทปเพลง ลองเพลย์ (ใช่ .. และบางทีเราก็เล่นแผ่นไวนิล) และสินค้าต่างๆไว้มากมาย แล้วอยู่ๆก็ได้ข่าวว่าจะมีคอนเสิร์ตที่สนามกีฬาเวมบลีย์ มีศิลปินดังๆเยอะมากและที่สำคัญ ไบรอัน อดัมส์ก็จะบินมาร่วมแจมด้วย ทันทีที่รู้ว่าจะได้ดูไบรอันตัวเป็นๆฉันก็ไม่คิดอะไรแล้ว ซื้อตั๋วทันที มีเพื่อนญี่ปุ่นที่โรงเรียนสองสามคนนัดจะไปด้วยกัน
ซื้อตั๋วแล้วถึงได้รู้ว่าตัวเองกำลังจะได้ไปคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่อลังการมากๆ จัดแสดงถึง 11 ชั่วโมงยาวรวด! เป็นไงล่ะ รายชื่อศิลปินที่จะขึ้นเวทีฟังแล้วขนลุก ยิ่งใหญ่กว่าไบรอันเยอะ เช่น สติง จอร์จ ไมเคิล เว็ทเว็ทเว็ท สตีวี วันเดอร์ ยูริธมิคส์ ฟิล คอลลินส์ วิทนีย์ ฮิวสตัน โจ คอกเกอร์ นาตาลี โคล บีจีส์ แจ็คสัน บราวน์ ปีเตอร์ เกเบรียล ยูบีฟอร์ตี้ ซิมเปิ้ลไมนดส์ และที่สำคัญ วงไดร์สเตรทส์ที่จะมีอีริค แคลปตันมาเป็นมือกีต้าร์ให้ โอ๊ย ขนลุกซู่ๆๆ
คอนเสิร์ตนั้นมีชื่อว่า The Nelson Mandela 70th Birthday Tribute หรือบางคนเรียกว่า Free Nelson Mandela Concert มีการถ่ายทอดไปยัง 67 ประเทศและมีผู้ชมถึง 600 ล้านคน
นั่นเป็นครั้งแรกที่เด็กผู้หญิงอายุ 18 คนหนึ่งได้รู้จักชื่อของมหาบุรุษเนลสัน แมนเดล่า เป็นครั้งแรก สงสัยเหลือเกินว่าเขาเป็นใคร ทำไมศิลปินขั้นเทพทั่วโลกถึงมารวมตัวกันจัดคอนเสิร์ตให้อย่างอลังการขนาดนี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ไปค้นข้อมูลเท่าที่วัยรุ่นคนหนึ่งจะเข้าใจได้เพียงเบื้องต้น ว่านั่นคือคอนเสิร์ตเพื่อเป็นการปลุกกระแสให้ปล่อยเนลสัน แมนเดล่า (และนักโทษการเมืองของแอฟริกาใต้คนอื่นๆ) ออกจากคุกเร็วกว่ากำหนด และเป็นการกดดันประเทศแอฟริกาใต้ให้ยุติเรื่องการเหยียดผิว แต่เนื่องจากถ้าคอนเสิร์ตจะตั้งชื่อหรือจัดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องการเมือง ก็จะไม่สามารถออกอากาศได้ทั่วโลก และเป็นข้อจำกัดในการเข้าร่วมและสปอนเซอร์ของหลายคน จึงต้องเรียกให้เป็นแรงบันดาลใจทางบวก ปีนั้นเป็นปีที่แมนเดล่าอายุครบ 70 ปีพอดี ผู้จัดจึงตกลงให้คอนเซ็ปต์เป็นการฉลองวันเกิดอายุ 70 ปีของแมนเดล่าในฐานะผู้นำการยกเลิกเรื่องการเหยียดสีผิวของแอฟริกาใต้และเรียกร้องให้ปล่อยเขาออกจากคุก
นั่นคือครั้งแรกที่ฉันได้รู้จักกับเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ของแมนเดล่า ซึ่งทำให้เมื่อโตขึ้นมา และได้มีโอกาสไปทำงานที่ประเทศแอฟริกาใต้หลายครั้ง ฉันจึงมีความสนใจและเพิ่มความศรัทธานับถือผู้นำผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ของโลกมาโดยตลอด แต่วันนี้ขอเล่าเพียงเรื่องราวน่าประทับใจเกี่ยวกับคอนเสิร์ตเท่านั้น
วันที่ 10 มิถุนายน 1988 ฉันนั่งรถประจำทางจากเมืองอ๊อกซ์ฟอร์ดคนเดียวเข้าลอนดอน ไปนอนพักที่หอของ ก.พ. ในสถานทูตไทยตามปกติเพื่อจะได้ไปสนามเวมบลีย์ได้ง่ายๆตอนเช้าวันที่ 11 ฉันเป็นเด็กวัยรุ่นผู้หญิงตัวเล็กแต่ลุยเดี่ยวคนเดียวเพราะแรงจูงใจคือคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่มาก และไบรอัน อดัมส์ อะไรก็เอาไว้ไม่อยู่ เงินก็มีติดตัวนิดเดียว นั่งรถไฟใต้ดินไปเวมบลีย์ นัดเพื่อนญี่ปุ่นไว้ที่คอนเสิร์ต สมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์มือถือ คนเป็นหมื่นไม่รู้หากันเจอได้อย่างไร เจอเพื่อนแล้วดีใจมากๆ หาที่เหมาะปักหลักชมคอนเสิร์ตได้บนอัฒจันทร์เพราะเราตัวเตี้ยกันหมดไม่สามารถยืนดูตรงกลางลานได้ เชื่อหรือไม่ว่ายืนยาว 12 ชั่วโมง ไม่ได้นั่งไม่ได้เข้าห้องน้ำไม่ได้กินอะไรเลย จากเที่ยงวันถึงเที่ยงคืน ดูคอนเสิร์ตอย่างตื่นตาตื่นใจตลอดเหมือนเสพเท่าไรก็ไม่สุด เทพทั้งนั้น ที่ฉันจำได้จากความทรงจำและไดอารี่ที่ตอนนั้นเขียนทุกวันก็คือ ตอนที่ George Michael ออกมาร้อง (แต่จำเพลงไม่ได้เพราะไม่ใช่ท็อปชาร์ต และตอนเขาเสียชีวิตก็อดคิดถึงคอนเสิร์ตนี้ไม่ได้อีก) จำ Annie Lennox ผมสีเงินจาก Eurythmic ร้อง There Must Be An Angel กับ Sweet Dreams ได้อย่างชัดเจน จำ Phil Collins ตีกลองพร้อมวงได้ ตอน Wet Wet Wet ออกก็จำได้ว่ากรี๊ดแทบเส้นเสียงแตก ตอนนั้นกำลังดังขั้นพีคสุด กับเพลงติดชาร์ทอันดับหนึ่งครั้งแรกในปี 1988 นั้นเองคือ With a Little Help From My Friends แม้จะไม่ได้เล่นเพลงนี้ที่คอนเสิร์ต จำ Bee Gees ร้อง You Win Again และ UB40 โชว์ I Got you Babe ได้ เจ๊ Whitney ร้องหลายเพลงมาก จริงๆพวกศิลปินเทพตัวจริงฝั่งอังกฤษเขาไม่อยากให้เจ๊มาร่วมเท่าไร แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องเอาเจ๊มาเรียกแขกเนื่องจากชื่อเนลสันแมนเดล่ายังไม่เป็นที่รู้จักในหลายประเทศ เจ๊เลยจัดมาแต่ท็อปฮิตเช่น Didn’t We Almost Have It All. Where do Broken Hearts Go. How Will I Know. I Wanna Dance with Somebody. Greatest Love of All. ที่จำได้แม่นอีกคนคือ Stevie Wonder ใส่แว่นดำส่ายหัวด่อกแด่กร้อง I Just Called to Say I Love You และแน่นอนที่จำได้ไม่ลืมเพราะเป็นพระเอกที่ทำให้ฉันได้มาคอนเสิร์ตอันยิ่งใหญ่นี้คือไบรอัน อดัมส์ที่มาร้องตอนกลางๆคอนเสิร์ตด้วยเพลง Somebody
และใกล้เที่ยงคืนก่อนเพลงสุดท้ายของคอนเสิร์ต วง Dire Straits ที่มีลุงเทวดา Eric Clapton มาบรรเลงหลายเพลง ก็ได้ทำให้ทุกคนที่เวมบลีย์ขนลุกลืมหายใจด้วยเพลง Wonderful Tonight ก้องกังวานหวานกินใจกลางฟ้ากำมะหยี่สีดำ
คืนนั้นรถไฟใต้ดินเปิดให้คนเป็นหมื่นขึ้นฟรีกลับลอนดอน ฉันกลับเข้ามา Marble Arch ขึ้นรถทัวร์กลับอ๊อกซ์ฟอร์ดคืนนั้น ถึงจะดึก ฉันก็ไม่ง่วง นั่งยิ้มมีความสุขกับมหากาพย์คอนเสิร์ตที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เจอตลอดทาง ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ฉันกลายเป็นสาวกเพลงยุค 80s อย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้นมาโดยตลอด ทุกวันนี้ยังฟังรวมฮิต 80s เกือบทุกวันไม่มีเบื่อ บอกได้เลยว่า ไม่มีเพลงป๊อปยุคไหนเป็นสีทองผ่องอำไพเท่ายุค 80s อีกแล้ว และต่อมาฉันยังได้ค้นพบว่ามีปรากฏการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นภายหลังกับวงการดนตรียุค 80s อันเป็นผลพวงจากคอนเสิร์ตนั้น หนึ่งคือการที่ Paul Young เอาเพลง Don’t Dream It’s Over ของ Crowded House มาร้องคัฟเวอร์บนเวทีคอนเสิร์ตแมนเดล่านี้ ปรากฎคนดูชอบมากจนเขาตัดสินใจเอามาใส่ในอัลบั้มปี 1991 ซึ่งเพลงนี้ก็ประสบความสำเร็จพุ่งขึ้นไปติดชาร์ตอย่างสวยงาม ถ้าเขาไม่ลองก็ไม่รู้ ฉันไม่นึกเลยว่า จะเป็นหนึ่งในผู้ชมที่ได้ฟังพอล ยังร้องเพลงนี้เป็นครั้งแรกที่เวมบลีย์ก่อนจะดัง อีกปรากฏการณ์ที่ชวนอึ้งกว่าก็คือ การแจ้งเกิดของ Tracy Chapman ที่เกิดบนเวทีคอนเสิร์ตนี้นั่นเอง และเป็นบุญที่ได้อย่างไม่ตั้งใจจากสตีวี่ วันเดอร์ เรื่องของเรื่องคือ สตีวี่มาถึงเวทีคอนเสิร์ตและพบว่าแทร็คเพลงที่เขาอัดไว้ล่วงหน้าเพื่อจะใช้ในคอนเสิร์ตหายไป ฮีโกรธมากบอกไม่มีก็เล่นไม่ได้แล้วเดินออกจากคอนเสิร์ตดื้อๆพร้อมวง จึงเกิดเหตุการณ์โกลาหลฉุกละหุก ผู้จัดต้องหาคนมาร้องเพลงเสียบแทนเวลาสตีวี่ก่อนคิวต่อไป ปรากฏว่าไปคว้าเอาเทรซี่นักร้องหน้าใหม่ซึ่งร้องคิวตัวเองจบไปแล้วมาลงแทนซ้ำ เทรซี่ได้แสดงถึงสองครั้งในคืนนั้น ทำให้เพลงทั้งสองที่ร้องคือ Fast Car และ Talkin’ ‘Bout a Revolution” จากอัลบั้มแรกที่เพิ่งออกไม่นานและขายไปได้เพียง 250,000 ชุดนั้นดังระเบิด เธอแจ้งเกิดเป็นพลุโด่ง สองสัปดาห์หลังคอนเสิร์ตยอดขายพุ่งไป 2 ล้าน คอนเสิร์ตแมนเดล่าที่ฉันเป็นประจักษ์พยานวันนั้นเป็นวันที่ให้กำเนิดศิลปินคุณภาพเทพอีกคนแก่โลกเพลงป๊อปชื่อเทรซี่ แชปแมน
นั่นคือครั้งแรกของฉันกับเนลสัน แมนเดล่า เขาชักนำให้ฉันได้เข้าร่วมคอนเสิร์ตเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอันหนึ่งของศตวรรษ และเพลงในทศวรรษที่ 80 ก็ชักนำให้ฉันได้รู้จักกับมหาบุรุษผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของโลกคนนี้
ขอให้เนลสัน แมนเดล่าไปสู่สุคติ สมกับคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า “ความตายเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ แต่หากคนใดได้ทำหน้าที่ของตนต่อประชาชนและประเทศของตัวแล้ว เขาผู้นั้นก็จะหลับตาลงได้อย่างเป็นสุขนิรันดร์”
เครดิตภาพ: musicinafrica.net